“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 136 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข หวั่นหลังช่วงฉลองเทศกาลสงกรานต์ จะมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมาก เนื่องจากการรวมญาติในภูมิลำเนาต่างจังหวัด และบางคนอาจป่วยมีเชื้อไข้เลือดออกในตัวเป็นการนำเชื้อไปสู่ที่ต่าง ๆ มากขึ้นหากถูกยุงกัด เร่งให้ทุกบ้านทำความสะอาดบ้าน กำจัดลูกน้ำยุงลายก่อนถึงช่วงสงกรานต์เพื่อรอรับญาติ และทายากันยุง ตะไคร้หอม ป้องกันยุงกัด
นายแพทย์โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานวอร์รูมแก้ไขป้องกันโรคไข้เลือดออกของกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการ และประเมินสถานการณ์โรคไข้เลือดออกทั่วประเทศ พบว่าในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 ราย แนวโน้มจำนวนลดลงกว่าช่วงก่อนหน้านี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม 2556 ทั่วประเทศมีผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมรักษาหายแล้วรวม 17,960 ราย เสียชีวิต 20 ราย ซึ่งทั้งจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตยังสูงกว่าช่วงเดียวกันเมื่อปีที่ผ่านมา 3 เท่าตัว สาเหตุที่จำนวนผู้ป่วยเริ่มลดลง อาจเป็นได้จากโรงเรียนปิดเทอม ยุงลายมีแหล่งอาหารน้อยลง ความเสี่ยงของการป่วยเป็นไข้เลือดออกขณะนี้จึงไปอยู่ที่บ้าน หากบ้านใดไม่มีการดูแลความสะอาด ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุก 5-7 วัน เช่นในถาดรองกระถางไม้ประดับ แจกันปลูกไม้ประดับ น้ำหล่อขาตู้กับข้าว หรือในภาชนะเก็บน้ำที่ไม่มีฝาปิดมิดชิด จะมีลูกน้ำยุงลายเกิดขึ้นและโตเป็นยุงเต็มวัยอาศัยอยู่กับคนภายในบ้าน
นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า จากรายงานผลสำรวจของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านใน 32 จังหวัดทั่วประเทศพบว่าในบ้าน 300,000 ครัวเรือน มีประมาณ 1 ใน 4 ที่ยังมียุงกัดในบ้านในช่วงกลางวัน แสดงให้เห็นว่า ยังมีประชาชนบางส่วนที่ยังไม่ได้ให้ความสนใจปัญหาของโรคไข้เลือดออก ไม่สนใจที่จะทำให้บ้านปลอดยุงลาย
อย่างไรก็ดี จากการประเมินทิศทางสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกของคณะผู้เชี่ยวชาญ คาดว่าอาจจะมีปัญหาการระบาดในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมีวันหยุดยาว 5 วัน เนื่องจากประชาชนทั่วประเทศ จะเดินทางกลับไปฉลองสงกรานต์ที่ภูมิลำเนาเดิม ในทางวิชาการการแพทย์พบว่าประชาชนอาจติดเชื้อไข้เลือดออกแต่ยังไม่แสดงอาการเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านทำให้มีการกระจายเชื้อไปที่ต่างๆได้ หากถูกยุงลายที่บ้านกัด
ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงได้วางแผนป้องกันไว้ก่อน โดยสั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ โรงพยาบาลทุกแห่ง ดำเนินการรณรงค์กระตุ้นให้ประชาชนทุกหลังคาเรือนทำความสะอาดบ้านเรือน เปลี่ยนน้ำ ขัดล้างภาชนะขังน้ำสะอาดที่อยู่ภายในบ้าน หรือปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะปลูกไม้ประดับขนาดใหญ่เช่นอ่างบัว เป็นต้น และกำจัดเศษภาชนะที่อยู่รอบบ้านให้หมดเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งขังน้ำ ทำต่อเนื่องทุกๆ 5-7 วัน และส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจลูกน้ำยุงลายในสถานที่สาธารณะ เช่น วัด โรงพยาบาล โดยเฉพาะตามสถานีขนส่ง ทั้งรถไฟ รถยนต์ ซึ่งจะมีประชาชนไปรอใช้บริการจำนวนมาก เพื่อไม่ให้มีแหล่งยุงลายวางไข่ได้ จำนวนยุงลายก็จะลดลงได้
นายแพทย์โสภณกล่าวต่อไปว่า สำหรับมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขเน้นหนักในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกในปีนี้ จะเน้นทั้งการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย การป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยใช้ตะไคร้หอม ซึ่งกลิ่นของตะไคร้หอมเป็นกลิ่นที่ยุงลายเกลียด ไม่เข้าใกล้ แนะนำให้ประชาชนใช้ได้ทั้งในรูปของตะไคร้สด โดยทุบที่ลำต้น ใบ ให้แตกเพื่อให้กลิ่นระเหยออกมา และนำไปวางไว้ในบ้าน หากวางในห้องจะใช้ได้นาน 24-48 ชั่วโมง แต่หากวางไว้ในที่โล่ง กลิ่นจะเจือจางเร็วกว่า หรืออาจใช้ชนิดที่ทำเป็นโลชั่นสำเร็จรูปแล้ว ให้ทาหลังจากอาบน้ำแล้ว ทั้งกลางวันกลางคืน หรือใช้ชนิดเป็นสเปรย์ฉีดพ่นในห้องก็ได้ ส่วนภายในโรงพยาบาลทุกแห่งทุกระดับ ต้องเป็นสถานที่ปลอดลูกน้ำและปลอดยุงลาย ไม่เป็นแหล่งแพร่เชื้อ หากพบผู้ป่วยสงสัยเป็นไข้เลือดออกก็จะให้โลชั่นตะไคร้หอมให้ผู้ป่วยและญาติที่เฝ้าไข้ทาด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงกัดและนำเชื้อไปแพร่สู่คนอื่น
****************************** 6 เมษายน 2556