ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนที่มีโรคเรื้อรังประจำตัวจัดเตรียมและพกยาติดตัวระหว่างเดินทางไปเยี่ยมญาติหรือท่องเที่ยวในวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ เพื่อป้องกันอาการกำเริบเพราะขาดยา โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน ให้พกลูกอมติดตัวไว้เพื่อใช้ฉุกเฉินหากมีอาการหัวใจสั่น พร้อมทั้งย้ำเตือนประชาชนให้ดื่มน้ำบ่อยๆ วันละ  2-3 ลิตรช่วยคลายร้อน หลีกเลี่ยงดื่มน้ำเย็นจัด

                นายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ประชาชนส่วนใหญ่จะเดินทางไปท่องเที่ยวและพบปะเยี่ยมญาติทั้งในจังหวัดเดียวกันและต่างจังหวัด ในการเดินทางดังกล่าว หากเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือมีอาการป่วยด้วยโรคเรื้อรังเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เป็นต้น จะต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดยาว จึงขอให้เตรียมตัวให้พร้อมก่อนเดินทาง  โดยจัดเตรียมยาประจำตัวที่รับประทานประจำไปด้วย เพื่อป้องกันอาการกำเริบจากการขาดยา 

           นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อว่า  ประชาชนที่เป็นโรคเบาหวาน ต้องระวังเรื่องการควบคุมอาหาร เนื่องจากอากาศร้อนมากๆ อาจรับประทานอาหารได้น้อย ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ ควรมีขนมหวานหรือพกลูกอมติดตัวไว้ด้วยเสมอ และให้พกบัตรที่แสดงว่าเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานและกำลังรักษาด้วยยาชนิดใดตลอดเวลาที่เดินทาง เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินแพทย์จะได้ให้การรักษาที่ถูกวิธี รวมทั้งรักษาความสะอาดของร่างกายอยู่เสมอ และระวังอย่าให้เกิดบาดแผล หมั่นตรวจน้ำตาลในปัสสาวะ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ  หากมีอาการอ่อนเพลีย ตกใจ ใจหวิว ใจสั่น เหงื่อออก หรือมีอาการปวดศีรษะ ตามัว แสดงว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ให้ดื่มน้ำหวานหรือน้ำตาลทันที  แต่หากมีอาการปัสสาวะบ่อยมากกว่าปกติ ผิวหนังร้อนผ่าว คลื่นไส้ อาเจียน หายใจมีกลิ่นคล้ายผลไม้ แสดงว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที หากปล่อยไว้อาจทำให้ผู้ป่วยหมดสติได้ 

             ในกลุ่มผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง  ให้รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ อย่าให้ขาดยา  หากรู้สึกว่าหงุดหงิดง่ายเพราะอากาศที่ร้อนขึ้น หรือเกิดความเครียดจากเหตุการณ์ต่างๆ ควรพักก่อนและดื่มน้ำเย็นหรือเครื่องดื่มที่ชอบ เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายและหายตึงเครียด หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูงเช่น ทุเรียน ข้าวเหนียวทุเรียน เป็นต้น  อย่างไรก็ดี ในช่วงฤดูร้อนในขณะนี้ อุณหภูมิสูงกว่าในอดีต อากาศที่ร้อนจัดอาจทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำได้ และผู้ป่วยบางโรคก็อาจมีอาการรุนแรงขึ้นได้เช่น โรคไต โรคหัวใจ ไมเกรน หรือลมชัก นอกจากนี้อาจพบอาการไมเกรนกำเริบในช่วงหน้าร้อน การป้องกันคือ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิสูง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง และดื่มน้ำให้เพียงพอวันละ 2-3 ลิตร  สามารถดื่มได้ทั้งน้ำเปล่า น้ำแร่ ชาสมุนไพร หรือน้ำผลไม้ผสมน้ำ

                 นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า เรื่องที่เป็นห่วงพบว่า ยังมีประชาชนเข้าใจไม่ถูกต้องในเรื่องของการดื่มน้ำในช่วงอากาศร้อน โดยเฉพาะผู้ที่เล่นน้ำสงกรานต์กลางแดดจัด มักนิยมดื่มน้ำเย็นจัด เนื่องจากคิดว่าความเย็นของน้ำจะช่วยคลายร้อน ทำให้ร่างกายสดชื่น  ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด  เพราะการดื่มน้ำเย็นจัดจะทำให้เส้นเลือดที่อยู่ในระบบทางเดินอาหารตั้งแต่หลอดอาหารที่คอ จนถึงกระเพาะอาหาร ลำไส้ เกิดเกร็งตัวและหดตัว ทำให้เกิดอาการจุกแน่นหน้าอก จึงขอแนะนำให้ดื่มน้ำเย็นธรรมดา หรือน้ำอุ่นๆ เพื่อให้ร่างกายสามารถดูดซึมน้ำที่ดื่มไปใช้ในระบบไหลเวียนเลือดได้ดีกว่าการดื่มน้ำที่เย็นจัด

********************************     12 เมษายน  2556



   
   


View 13    12/04/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ