“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 138 View
- อ่านต่อ
วันนี้ (3 พฤษภาคม 2556) เวลา 10.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จ พระราชดำเนินทรงเปิดแพรคลุมป้ายอาคาร 200 ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์หินอ่อนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ขนาดเท่าครึ่งพระองค์จริง และทอดพระเนตรรถยนต์พยาบาลพระราชทานที่ได้พระราชทานไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2515 โดยมีนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายพงศ์ศักดิ์ เกตุสวัสดิวงศ์ ประธานคณะกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี ผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลพระจอมเกล้าจังหวัดเพชรบุรี เฝ้ารับเสด็จฯ
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กราบทูลถวายรายงานความเป็นมาของการก่อสร้างอาคาร 200 ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดสร้างอาคารหลังนี้ เพื่อพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพ ช่วยผู้เจ็บป่วยให้รอดชีวิตและป้องกันความพิการซ้ำซ้อนให้ได้มากที่สุดตลอด 24 ชั่วโมง โดยในปี 2551ได้จัดสรรงบประมาณก่อสร้างจำนวน 70,500,000 บาท และใช้เงินบำรุงของโรงพยาบาลพระจอมเกล้าสมทบอีก 8,099,767 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 78,599,767 บาท เป็นอาคารขนาด 4 ชั้น แล้วเสร็จและเปิดให้บริการผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2555 เป็นต้นมา โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระนามพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นชื่ออาคารว่า อาคาร 200 ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชั้นที่ 1 เป็นแผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน และระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ศูนย์พึ่งได้ ซึ่งให้บริการสตรีและเด็กที่ถูกกระทำรุนแรง ชั้นที่ 2 เป็นห้องผ่าตัดฉุกเฉิน 4 ห้อง ชั้นที่ 3 เป็นหอผู้ป่วยอุบัติเหตุที่มีอาการหนัก จำนวน 5เตียง พร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิตและชั้นที่ 4 เป็นหอผู้ป่วยโรคหู คอ ตา จมูก จำนวน 30 เตียง และผู้ป่วยสังเกตอาการ จำนวน 10 เตียง
นอกจากนี้ ได้จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์หินอ่อนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขนาดเท่าครึ่งของพระองค์จริง ประดิษฐานไว้ด้านหน้าอาคารหลังนี้ด้วย และมีอักษรเบลส์จารึกไว้ให้ผู้พิการทางสายตาได้ทราบประวัติของโรงพยาบาลเพื่อให้เป็นที่สักการะของเจ้าหน้าที่ และประชาชน ใช้ทุนจัดสร้างทั้งหมด 14 ล้านบาท
โรงพยาบาลพระจอมเกล้าฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นชื่อของโรงพยาบาลฯ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2532 และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นชื่อหอผู้ป่วย 6 อาคาร ได้แก่ อาคารพิฆเนศวรสุรสังกาศ อาคารมเหศวรศิววิลาศ อาคารวิษณุนาถนิภาธร อาคารนเรศรวรฤทธิ์ อาคารวชิรญาณวโรรส และอาคารนราธิปประพันธ์พงศ์
ปัจจุบัน โรงพยาบาลพระจอมเกล้าฯ เป็นโรงพยาบาลทั่วไป ขนาด 365 เตียง แต่ให้บริการจริง 410 เตียง มีอาคารผู้ป่วย 12 หลัง บุคลากร 1,151 คน มีบริการทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนไทย ในปี 2554 ให้บริการผู้ป่วยอุบัติเหตุ 59,368 ราย มีผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้ป่วยวิกฤติต้องรักษาเร่งด่วนเฉลี่ยวันละ 99 ราย กระทรวงฯ ได้วางแผนพัฒนาศักยภาพให้โรงพยาบาลพระจอมเกล้าฯ เป็นศูนย์เชี่ยวชาญรักษาโรค 4 สาขาหลัก ภายในปี 2559 ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด อุบัติเหตุ ทารกแรกเกิด และโรคมะเร็ง เช่นมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนที่อยู่ในจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ได้รับบริการที่สะดวกและใกล้บ้านมากขึ้น
***************************** 3 พฤษภาคม 2556