“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 138 View
- อ่านต่อ
เช้าวันนี้ (3 พฤษภาคม 2556) ที่กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมสภาและสมาคม 17 วิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุข อาทิ แพทยสภา สภาการพยาบาล ทันตแพทยสภา สภาเทคนิคการแพทย์ เป็นต้น เกี่ยวกับการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานหรือพีฟอร์พี (P4P) ว่า ขณะนี้อยู่ในระยะของการนำไปปฏิบัติ ได้มีความพยายามในการพูดคุยกัน เช่น ประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/ โรงพยาบาลชุมชน เพื่อทำความเข้าใจให้ชัดเจนถึงวิธีการปฏิบัติก่อน ซึ่งในระยะแรกมีโรงพยาบาลชุมชนหลายแห่งกังวลใจในเรื่องนี้ แต่หลังจากพูดคุยกันแล้วโรงพยาบาลชุมชนหลายแห่งยินดีที่จะทำ โดยขอให้มีทีมพี่เลี้ยงเข้าไปช่วย การจะประเมินภายใน 1 เดือนว่าดีหรือไม่ดีนั้นเป็นเรื่องที่เร็วเกินไป เพราะขณะนี้โรงพยาบาลส่วนใหญ่อยู่ในขั้นการเก็บข้อมูล ความเร็วหรือช้าในการดำเนินการขึ้นอยู่กับความพร้อมของโรงพยาบาล แต่ก็เริ่มทยอยทำแล้วรวมทั้งได้ให้โรงพยาบาลชุมชนส่งข้อมูลเรื่องการปรับระดับพื้นที่ควบคู่ไปด้วย ขอให้ทุกโรงพยาบาลเริ่มต้นทำตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เรื่องที่เป็นปัญหาในทางปฏิบัติแก้ไขได้
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า การจ่ายค่าตอบแทนแบบพีฟอร์พี เป็นการจ่ายค่าตอบแทนตามประสิทธิภาพของงานและคุณภาพ ไม่ใช่การจ่ายตามปริมาณงานอย่างเดียว สิ่งที่ประชาชนได้คือปริมาณและคุณภาพบริการแบบ ครบวงจร ทั้งรักษา ส่งเสริม ป้องกัน ส่วนแพทย์ บุคลากรจะได้มีการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพการให้บริการ และได้ค่าตอบแทนตามหลักธรรมาภิบาล ใครมีภาระงานมากก็ได้ค่าตอบแทนมาก เป็นการรั้งให้คนที่อยู่ในโรงพยาบาลมากขึ้น รวมทั้งเป็นช่องทางอย่างหนึ่งในการปรับปรุงประสิทธิภาพเชิงระบบทั้งหมด หากประสิทธิภาพการบริหารงานดีจะมีเงินเหลือ จะมีระเบียบนี้รองรับการจ่ายให้บุคลากรที่ทำงานตามวัตถุประสงค์ และประโยชน์จากการทำอีกอย่าง คือระบบรายงานจะครบถ้วน โรงพยาบาลสามารถนำไปใช้ในการเบิกเงินจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพมากขึ้น ที่ผ่านมารายงานไม่ครบ เบิกเงินไม่ได้ปีละ 2 - 3 พันล้านบาท รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขได้ข้อมูลการบริการทางสุขภาพที่ครบถ้วน ทั้งนี้ การจ่ายค่าตอบแทนแบบนี้ จะเป็นตัวอย่างให้หน่วยราชการอื่นๆ หากจะมีการเพิ่มค่าตอบแทนต่าง ๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำวิชาชีพ ซึ่งการใช้เงินค่าตอบแทนตามคุณภาพและประสิทธิภาพ ยังทำให้ประชาชนยอมรับว่าเป็นเงินที่ข้าราชการควรจะได้ด้วยความชอบธรรมและถูกต้อง
ด้านนายแพทย์อนุกูล ไทยถานันดร์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบบริการสุขภาพ โรงพยาบาลมะการักษ์ จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า โรงพยาบาลมะการักษ์ได้เริ่มระบบพีฟอร์พีตั้งแต่ปี 2546 แต่จ่ายจริงในปี 2552 ในช่วงเริ่มต้นมีอุปสรรคบ้างในเรื่องการเก็บค่าคะแนนวิชาชีพ เจ้าหน้าที่มองว่าไม่ยุติธรรม ได้แก้ไขโดยมีคณะกรรมการคอยปรับค่าคะแนนให้เหมาะสม เช่น งานสำคัญ งานเร่งด่วน งานนโยบาย อาจได้ค่าคะแนนเพิ่มขึ้น งานเชิงรุกหรืองานส่งเสริมป้องกันอาจเป็นงานที่คนไม่อยากทำ ก็ได้ใช้คะแนนที่เพิ่มขึ้นมาเป็นแรงจูงใจ ในช่วงแรกๆ เจ้าหน้าที่อาจเข้าใจว่าเป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้น แต่หลังจากระบบเดินไปแล้วก็เข้าใจดีขึ้น และเห็นความชัดเจนของผลการทำงานของเจ้าหน้าที่แต่ละคน และเกิดความภาคภูมิใจในผลงานที่ปรากฏในการให้บริการประชาชน สำหรับกระแสข่าวที่มีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลอื่น มีความเห็นว่าไม่ควรทำนั้น นายแพทย์อนุกูลกล่าวว่า จากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลพบว่า ส่วนใหญ่มั่นใจว่าสิ่งโรงพยาบาลมะการักษ์ทำมานั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว และอยากให้ทุกโรงพยาบาลลองเดินหน้าทำไปก่อน จะเข้าใจระบบนี้ดีขึ้นเรื่อยๆ เกิดการปรับตัวไปในทางเดียวกัน หากยังไม่ได้เริ่มต้นเดินก็จะรู้สึกกังวล
สำหรับการดำเนินงานในรอบ 7 ปี จากการประเมินผลพบว่า ระบบการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานสร้างความพึงพอใจเจ้าหน้าที่จากร้อยละ 30 ในปี 2552 เพิ่มเป็นร้อยละ 70 ในปี 2555 ส่วนระบบบริการประชาชนดีขึ้น เวลารอคอยบริการในโรงพยาบาลลดลงจาก 95 นาที ในปี 2552 เหลือเพียง 83 นาทีซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานโรงพยาบาลตั้งไว้ 90 นาที และขณะเดียวกันความพึงพอใจประชาชนเพิ่มจากร้อยละ 80 เป็นมากกว่าร้อยละ 88 ในช่วงเดียวกัน และระบบนี้ยังช่วยให้เจ้าหน้าที่มีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับบุคคลและระดับงานภาพรวมที่รับผิดชอบ และมีการปรับเกลี่ยบุคลากรส่วนเกินไปช่วยส่วนที่ขาด เติมเต็มระบบ
********************** 3 พฤษภาคม 2556