นายแพทย์ประดิษฐ  สินธวณรงค์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการควบคุมไข้มาลาเรีย ว่า  กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายควบคุมและยับยั้งการแพร่เชื้อมาลาเรียตั้งเป้าหมายภายใน 7 ปี คือภายในพ.ศ.2563 สามารถยับยั้งการแพร่เชื้อมาลาเรียอย่างถาวรครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 80 ของประเทศ โดยทำงานเชิงรุก ตั้งจุดตรวจและรักษาโรคมาลาเรียในพื้นที่ที่มีการระบาดหรือพบผู้ป่วย โดยเฉพาะพื้นที่ในจังหวัดตามแนวชายแดน ขณะนี้ได้จัดตั้งแล้ว 760 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์มาลาเรียคลินิก 300 แห่ง และมาลาเรียคลินิกชุมชน 460 แห่งทั่วประเทศ  สามารถตรวจหาเชื้อรู้ผลภายใน 15 นาที และจัดยารักษาฟรีให้แก่ผู้ป่วยทั้งคนไทยและต่างชาติได้ทันที โรคนี้มียารักษาหาย หากรักษาเร็วจะลดความรุนแรงโรคและลดอัตราการเสียชีวิตได้ ซึ่งมาตรการนี้ใช้ได้ผลดีมาก ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้ง่าย  ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล  จำนวนผู้ป่วยและการเสียชีวิตลดลงได้มาก 

             จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยาปี 2550 ทั่วประเทศมีผู้ป่วยมาลาเรีย 30,889 ราย เสียชีวิต 38 ราย ในปี 2555 จำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตลดลงกว่าครึ่ง พบผู้ป่วย16,138 ราย เสียชีวิต 16 ราย และในปีนี้ตั้งแต่ 1 มกราคม-15 เมษายน 2556 พบผู้ป่วย 2,494 ราย เป็นคนไทยร้อยละ 77 พม่าร้อยละ 13 เสียชีวิต 2 ราย          

             ทั้งนี้ โรคมาลาเรีย มียุงก้นปล่อง ซึ่งเป็นยุงป่า เป็นพาหะนำโรค ส่วนมากพบในพื้นที่ชนบทและชายแดนที่ที่เป็นป่าเขา ป่าทึบ สวนยางพารา ลำธารตามธรรมชาติ คนที่เสี่ยงป่วยโรคนี้มี 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มคนที่มีอาชีพในป่าเช่นกรีดยาง หาของป่า และกลุ่มแรงงานต่างชาติที่ส่วนใหญ่มาจากชนบทในประเทศเพื่อนบ้าน กระทรวงสาธารณสุขได้มีมาตรการป้องกัน โดยร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา และพม่า ควบคุมป้องกันโรคตามพื้นที่ชายแดนร่วมกัน และกำหนดให้แรงงานต่างด้าวทุกคนที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยทุกพื้นที่ทุกประเภทงาน ต้องตรวจเลือด เพื่อตรวจหาเชื้อมาลาเรียก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้นำเชื้อมาแพร่ต่อ หากพบติดเชื้อจะให้การรักษาฟรี ส่วนวิธีการป้องกันทำได้โดยการนอนในมุ้งและป้องกันไม่ให้ยุงกัด เช่น การสวมเสื้อปกปิดร่างกายให้มิดชิด การใช้ยาทากันยุงหรือยาจุดกันยุง หรืออยู่ในป่าเขาให้ใช้มุ้งชุบสารเคมีไพรีทรอยด์ (pyrethroid) ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ยุงเป็นอัมพาตและตายในระยะเวลาอันสั้น ไม่เป็นอันตรายต่อคน

            ด้านนายแพทย์พรเทพ  ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ยุงก้นปล่องที่เป็นพาหะนำโรคมาลาเรีย โดยทั่วไปออกหากินตอนกลางคืน แต่หากอยู่ป่าทึบ แสงสลัว ยุงจะกัดในตอนกลางวันได้เช่นกัน เชื้อที่พบในไทยมี 4 สายพันธุ์ มากที่สุดคือชนิดฟาลซิปารัม (Falciparum) และไวแวกซ์ (Vivax) หลังติดเชื้อประมาณ 10-14 วัน จะมีอาการป่วยไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น สลับร้อนหรือร้อนๆหนาวๆ มีเหงื่อออก ชาวบ้านเรียกว่าไข้จับสั่น บางรายสามวันดีสี่วันไข้ หากมีอาการที่กล่าวมา ขอให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทุกแห่งใกล้บ้านหรือที่หน่วยมาลาเรีย เพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรีย และต้องแจ้งประวัติการเข้าป่าหรือไปบริเวณพื้นที่เสี่ยงให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อให้การรักษาที่รวดเร็ว โรคนี้หากรักษาช้า อาจมีอาการแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น มาลาเรียขึ้นสมอง เม็ดเลือดแดงแตกง่าย เหลืองซีด ปัสสาวะสีดำ ไตวาย ปอดบวมน้ำ ทำให้เสียชีวิตได้ 

*************************  6 พฤษภาคม 2556



   
   


View 14    06/05/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ