กระทรวงสาธารณสุข ตระหนักถึงความปลอดภัยในระบบการขนส่งเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ มอบกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เร่งพัฒนาความรู้ ให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่มีการผลิต ครอบครอง จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ ได้เกิดการพัฒนาระบบการจัดการด้านขนส่งเชื้อโรคและสารชีวภาพให้เป็นไปตามกฎหมายและหลักปฏิบัติสากล

       นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงาน “โครงการสัมมนาความรู้ด้านการขนส่งเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์” ณ โรงแรมมิราเคิล แกรด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ว่า ในประเทศไทยมีองค์กรและหน่วยงานหลายแห่งถือสิทธิครอบครอง เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ ซึ่งส่วนใหญ่จะนำเข้ามาเพื่อศึกษาวิจัย หรือดำเนินการเชิงธุรกิจ เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ที่มีอยู่ทั้งหมดจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายในการควบคุมความเป็นอันตราย เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยและป้องกันอันตรายต่อสาธารณะ ซึ่งประเทศไทยมีพระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ.2525 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2544 เป็นกฎหมายในการบังคับใช้ ดังนั้นหน่วยงานดังกล่าวจะต้องดำเนินกิจการด้วย ความระมัดระวัง ไม่ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อโรคและพิษจากสัตว์หรือใช้เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ในทางที่ผิดก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตโดยไม่เจตนา หรือปล่อยปะละเลยให้มีผู้ที่ไม่หวังดีนำเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ไปใช้ก่ออันตรายให้แก่ผู้อื่น ดังนั้นบรรจุภัณฑ์และระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพเป็นไปตามหลักสากลจึงมีส่วนสำคัญในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค 
 
           กระทรวงสาธารณสุขได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงได้มอบหมายกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมีภารกิจดำเนินการตามพระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ ให้ความรู้ ความเข้าใจเรื่องบรรจุภัณฑ์และการขนส่งเชื้อโรคและสารชีวภาพ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานที่มีการผลิต ครอบครอง จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ได้เกิดการพัฒนาระบบการจัดการด้านขนส่งเชื้อโรคและสารชีวภาพ ให้เป็นไปตามหลักวิชาการและหลักปฏิบัติสากล เพื่อความปลอดภัยต่อประชาชนและสาธารณะ นายแพทย์ประดิษฐ กล่าว
 
           ด้านนายแพทย์นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ..... เพื่อให้เป็นฉบับที่เป็นประโยชน์สูงสุด โดยมุ่งเน้นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ มีความรับผิดชอบต่อสาธารณะ ในการครอบครอง ผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออกหรือนำผ่านเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ที่ต้องมีระบบเหมาะสมเทียบเคียงนานาชาติ โดยมีการจัดระดับความรุนแรงของเชื้อโรคไว้ด้วย ในการพิจารณาออกใบอนุญาตการครอบครองเชื้อโรค ว่าระดับความรุนแรงใดจะต้องพิจารณาระดับมาตรฐานความปลอดภัยของห้องแล็ปด้วย และคุณสมบัติที่จำเป็นของบุคลากรที่รับผิดชอบให้สอดคล้องเหมาะสม กฎหมายฉบับนี้จะทำให้รู้ว่าเชื้อโรคระดับความรุนแรงใดอยู่ในห้องแล็ปที่ไหนบ้าง มีการวิจัยเรื่องอะไร และมีความปลอดภัยต่อสาธารณะหรือไม่
นายแพทย์นิพนธ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักกำกับพระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ ได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้และหลักการให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยภายในและภายนอกองค์กร รวมถึงสร้างความปลอดภัยให้ประชาชนในประเทศและระดับนานาชาติยิ่ง ๆขึ้นไป ซึ่งในครั้งนี้จะเป็นการให้ความรู้เรื่องการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ ชนิดของบรรจุภัณฑ์และวิธีการขนส่งเชื้ออันตรายและสารชีวภาพ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการขนส่งเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ ซึ่งจะทำให้หน่วยงานที่มีการผลิต ครอบครอง จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ มีระบบบริหารความปลอดภัยและความมั่นคงด้านการขนส่งเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ตามกฎหมายและหลักปฏิบัติสากล
 
                                                                                                               *********************************** 8 พฤษภาคม 2556


   
   


View 15    09/05/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ