รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  หนุนนโยบายเพิ่มสมรรถนะให้พยาบาลทำงานบริการในชุมชน เสริมสร้างศักยภาพชุมชนจัดการปัญหาสุขภาพ ลดโรค ผู้พิการ ผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ผู้สูงอายุ แม่และเด็กได้รับการดูแลต่อเนื่อง จะช่วยลดความแออัดผู้ป่วยในโรงพยาบาลใหญ่ได้สำเร็จ

              วันนี้ (9 พฤษภาคม 2556) ที่ โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ท จ.ปทุมธานี นายแพทย์ประดิษฐ  สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการพยาบาลชุมชนระดับชาติครั้งที่ 8 ประจำปี 2556 ในหัวข้อ “มิติใหม่สมรรถนะพยาบาลในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพชุมชน” จัดโดยกระทรวงสาธารณสุข ชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย มูลนิธิส่งเสริมสุขภาพไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบสุขภาพในชุมชนและท้องถิ่นอย่างยั่งยืน มีผู้เข้าร่วมประชุม 800 คน

                    นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายจัดบริการสุขภาพเป็นรายเขต ซึ่งแบ่งออกเป็น 12 เขตบริการครอบคลุม 76 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างเป็นธรรมและใกล้บ้านใกล้ใจที่สุด และงานที่เน้นหนักและให้ความสำคัญมากขึ้นคืองานสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค เพื่อลดจำนวนผู้เจ็บป่วยให้น้อยลง ปัญหาหลักสุขภาพคนไทยขณะนี้พบว่าป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม โดย 2 โรคนี้มีผู้ป่วยรวม 13 ล้านคน หากไม่เร่งแก้ไขก็จะเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นตามมาอีกมาก ทั้งไตวาย โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นภาระให้แก่ครอบครัวในการดูแลรักษา

             ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้กำหนดบทบาทให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทำงานเชิงรุกเพื่อป้องกันโรค และลดจำนวนผู้ป่วยทุกโรค ส่วนในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป ให้มีหน่วยสร้างสุขภาพในชุมชนด้วย บุคลากรหลักที่มีส่วนสำคัญคือพยาบาล ซึ่งต่อไปจะมีทั้งพยาบาลที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล และมีพยาบาลชุมชนทำหน้าที่ดูแลและสร้างเสริมการมีสุขภาพที่ดีให้แก่ประชาชนในชุมชนด้วย และเป็นผู้เติมเต็มระบบบริการในชุมชนเช่น กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ แม่และเด็ก รวมทั้งเยาวชน เป็นเสมือนพี่เลี้ยงของชุมชนสามารถเชื่อมประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นในชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง ตรงกับความต้องการมากที่สุด ขณะนี้มีพยาบาลที่ผ่านการอบรมเป็นพยาบาลชุมชนแล้ว 700 คน และเข้าไปให้การดูแลประชาชนในชุมชุนต่างๆทั่วประเทศรวม 153 พื้นที่ ซึ่งพบว่าได้ผลดี หากสามารถทำได้ทุกชุมชน ก็จะลดจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลใหญ่ๆได้อีกมาก ประชาชนได้รู้จักวิธีการดูแลสุขภาพทั้งระดับบุคคลและครอบครัว

             ด้านนายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อให้เครือข่ายด้านสุขภาพชุมชน ทั้งพยาบาลชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสหวิชาชีพต่างๆ ได้นำเสนอผลงานวิจัยของชุมชน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชุมชนได้ โดยได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่พยาบาลต้นแบบและชุมชนที่มีระบบการจัดการสุขภาพเป็นผลงานดีเด่นในปี 2556 ทั้งหมด 12 พื้นที่รวม 24 รางวัล เช่น หมู่บ้านรณรงค์ปลอดเหล้าในงานศพและงานบุญใน จ.น่าน หมู่บ้านปลอดยาเสพติดและเหล้าที่ จ.มหาสารคาม  การพัฒนาศักยภาพ อสม.ในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้เป็นผลงานของรพ.สต.วังตะเคียน อ.เมือง จ.กำแพงเพชร  ซึ่งหมู่บ้านนี้มีผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลไม่ได้ 15 คน พบว่าสาเหตุมาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารร้อยละ 80 รองลงมาคือจากความเครียดร้อยละ 13 และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 7 หลังจากที่อสม.เข้าร่วมแก้ไขปัญหากับพยาบาลชุมชน โดยออกเยี่ยมบ้านและติดตามผลบ่อยๆ จนทำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้สำเร็จ         

****************************** 9 พฤษภาคม 2556



   
   


View 10    09/05/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ