นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการขับเคลื่อนนโยบาย 1 หมอที่ปรึกษา 1 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือรพ.สต. และศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองหรือศสม. ว่า ตามนโยบายการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพของรัฐบาล ได้เพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการปฐมภูมิให้มีความเข้มแข็ง เน้นการดูแลประชาชนเชิงรุก เพื่อทำให้ประชาชนใน 76 จังหวัด ซึ่งมีประมาณ 55 ล้านคน มีสุขภาพดี ลดการเจ็บป่วย โดยเฉพาะกลุ่มที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ได้แก่ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ช่วยเหลือตนเองได้น้อย และพักดูแลฟื้นฟูอยู่ที่บ้านในหมู่บ้านและชุมชนต่างๆ เช่นผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต ให้ได้รับการเยี่ยมดูแลป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแทรกซ้อนตามมา โดยเน้นให้มีหมอใกล้บ้านใกล้ใจ มียาดีใช้เพียงพอ ไม่ต้องรอคิวนาน

           ในปี 2556 นี้ เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องในระยะที่ 2 กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ของรพ.สต.ที่มี 9,750 แห่งและศสม. 1,000 แห่ง โดยมีนักจัดการสุขภาพครอบครัว ประกอบด้วย นักวิชาการสาธารณสุข พยาบาลวิชาชีพ เจ้าพนักงานสาธารณสุข เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข  เจ้าพนักงานเภสัชกรรม เจ้าหน้าที่แพทย์แผนไทย จำนวน 44,000 คน นักสุขภาพครอบครัวแต่ละคนจะดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิดคนละ 1,250 คนหรือเฉลี่ยคนละ 300 ครัวเรือน มีแพทย์เป็นที่ปรึกษานักสุขภาพครอบครัวอีกชั้นหนึ่ง จำนวน 3,500 คน และมีนายแพทย์เชี่ยวชาญทุกสาขาอีก 10,000 คน เป็นเครือข่ายรับคำปรึกษาจากนายแพทย์ที่ปรึกษา
 
นายแพทย์ชลน่านกล่าวต่อว่า นโยบาย 1 หมอที่ปรึกษา 1 รพ.สต. ศสม. เป็นระบบที่สลายความเป็นราชการมาเป็นแบบเครือญาติ มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพ ซึ่งประเทศอังกฤษดำเนินการและประสบผลสำเร็จมาแล้ว ประชาชนทุกคนมีหมอเป็นที่พึ่งเบื้องต้นเมื่อมีปัญหาสุขภาพ เข้าถึงบริการที่เป็นธรรม ผู้ด้อยโอกาสทุกคนไม่ถูกทอดทิ้ง ไม่มีช่องว่างคนจนคนรวย ช่วยบรรเทาหรือป้องกันความรุนแรงโรคได้อย่างดีคาดว่าจะลดค่าใช้จ่ายสุขภาพให้ผู้ป่วยได้ปีละกว่า 275,925 ล้านบาท
 
ทางด้านนายแพทย์นิทัศน์ รายยวา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการดำเนินงานในระยะที่ 1 ปี 2555 มีแพทย์อาสาเข้ามาเป็นแพทย์สู่ระบบนี้แล้ว 1,000 คน มีนักสุขภาพครอบครัว 33,000 คน จากการติดตามประเมินผลการทำงานพบว่า ผลการติดตามพบว่าร้อยละ 50 สามารถประสานงานกันได้อย่างดี ประชาชนได้รับการดูแลและรู้จักสนิทสนมกับเจ้าหน้าที่มากขึ้น บรรยากาศอบอุ่น ประชาชนพอใจมาก
 
         ทั้งนี้ เวลาที่เหลืออีก 5 เดือน จะเร่งดำเนินการโดยขยายโครงการให้ครบทุกเขตบริการ 12 เขต โดยประชุมชี้แจงที่จังหวัดในแต่ละเขตได้แก่ น่าน ตาก กำแพงเพชร นครนายก ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี กาฬสินธุ์ เลย สุรินทร์ อำนาจเจริญ กระบี่ สตูล ให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2556   และเมื่อดำเนินการสมบูรณ์แบบครบทุกเขตทุกจังหวัดภายในเดือนกันยายน 2556 จะลดจำนวนผู้ป่วยเรื้อรังไปรับบริการที่โรงพยาบาลใหญ่ลงได้มาก และผู้ป่วยที่จะไปโรงพยาบาลคือผู้ป่วยที่แพทย์นัดล่วงหน้าไว้แล้ว แพทย์สามารถวางแผนรักษาอย่างทันท่วงที โดยจะสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกในการทำงาน เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์พกพาสำหรับบันทึกประวัติสุขภาพประชาชน   
 
************************** 12 พฤษภาคม 2556
 


   
   


View 8    12/05/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ