กระทรวงสาธารณสุขไทยจับมือรัฐบาลญี่ปุ่น พัฒนารูปแบบการจัดบริการระยะยาวที่บ้านสำหรับกลุ่มผู้สูง อายุที่ต้องพึ่งพิงช่วยเหลือตนเองได้บางส่วนหรือไม่ได้เลย ซึ่งคาดว่าจะมีประมาณ 1 ล้านคนทั่วประเทศ  ใช้เวลาศึกษา 5 ปี ระหว่างพ.ศ. 2556-2560 ใน 6 จังหวัดนำร่อง  ระบุขณะนี้ไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วที่สุดในอาเซียน ประชากรวัยเด็กลดลง ในระยะยาวเตรียมวางแผนเพิ่มจำนวนบุตรเฉลี่ยของหญิงไทยจาก 1.5 คน เป็น  2.1 คน เพื่อให้โครงสร้างประชากรไทยสมดุล    
         
วันนี้ (15 พฤษภาคม 2556) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์  กทม. นายแพทย์ประดิษฐ  สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  พร้อมด้วยนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  เปิดประชุมระดับชาติ  (National Conference) โครงการพัฒนารูปแบบบริการระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพิงรวมทั้งกลุ่มอายุอื่นที่ต้องการความช่วยเหลือในชีวิตประจำวัน (THE PROJECT OF LONG-TERM CARE SERVICE DEVELOPMENT FOR THE FRAIL ELDERLY AND OTHER VULNERABLE PEOPLE : LTOP) โดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นและไทย โดยมีหน่วยงานเข้าประชุมได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
         
นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวว่า ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุเร็วที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน จากรายงานการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าสุดในปี 2554 พบว่ามีประชากรสูงอายุประมาณร้อยละ 12  ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 9 ล้านคน  และพบว่าผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป เพิ่มจากร้อยละ 10  ของประชากรสูงอายุทั้งหมดในปี 2543 เป็นร้อยละ 13 ในปี 2553   โดยอัตราเกิดของไทยลดลง หญิงวัยเจริญพันธุ์ไทยอายุ 15-49 ปี   1 คนมีบุตรเฉลี่ย 1.5 คน ทำให้โครงสร้างประชากรไทยอยู่ในสภาวะไม่สมดุล สัดส่วนระหว่างผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปกับเด็กอายุ 0-14 ปี ลดลงอย่างรวดเร็วจาก 1: 2.56 ในปี 2543 เป็น 1 : 1.49 ในปี 2553
         
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า ในการรับมือกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุของไทย ได้มียุทธศาสตร์ระดับชาติ โดยบูรณาการร่วมกันทั้งหน่วยงานภาครัฐ  เอกชนและชุมชน  มี 2 มาตรการ โดยมาตรการระยะสั้นเน้นการจัดบริการการดูแลระยะยาวโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ส่วนในระยะยาวได้มียุทธศาสตร์ระดับชาติ เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยการเพิ่มจำนวนบุตรเฉลี่ยของหญิงไทยให้สูงขึ้นจาก 1.5 เป็น 2.1  เพื่อให้โครงสร้างประชากรมีความสมดุล  ลดภาระครอบครัวในการดูแลผู้สูงอายุ และเน้นการส่งเสริม สุขภาพกายและจิตใจของผู้สูงอายุ ให้ผู้สูงอายุมีศักยภาพในการเพิ่มผลผลิต (Productivity) ยาวนานมากขึ้น มอบหมายให้ นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้อำนวยการโครงการ (Project Director) และนายแพทย์ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้จัดการโครงการ (Project Manager)
         
ทางด้านนายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า การดูแลผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน  ทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ และอาสาสมัคร   โดยเฉพาะผู้สูงอายุกลุ่มที่ต้องพึ่งพิง ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว  ซึ่งกลุ่มนี้มีประมาณ  1 ล้านคน มี 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ต้องพึ่งพาคนอื่นเมื่อออกนอกบ้าน มีประมาณร้อยละ 10 หรือประมาณ 900,000 คน และประเภทนอนติดเตียง ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ มีประมาณร้อยละ 1 หรือประมาณ 90,000 คน ซึ่งคนกลุ่มนี้มักจะไม่ต้องการการดูแลทางการแพทย์ แต่ต้องการการดูแลที่ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานหรือตลอดอายุขัยจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ  ซึ่งปัจจุบันพบว่าเป็นภาระที่หนักของสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวขนาดเล็ก ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงต้องเตรียมความพร้อมด้านระบบบริการผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพิง 2 กลุ่มนี้  โดยร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่น รวมทั้งภาครัฐ เอกชน จัดระบบดูแลหลายด้านไปพร้อมๆ กัน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม มีระยะเวลาดำเนินการระหว่าง พ.ศ.2556-2560
        
โครงการดังกล่าวนำร่องดำเนินการ 6 แห่ง ได้แก่ ขอนแก่น  เชียงราย สุราษฎร์ธานี  นนทบุรี  นครราชสีมา และกรุงเทพมหานคร โดยเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการพัฒนารูปแบบบริหารจัดการระบบบริการสุขภาพและสวัสดิการสังคมเชิงบูรณาการสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย ได้ร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่นระยะเวลาดำเนินการระหว่าง พ.ศ.2550-2553 ในพื้นที่เดิม   เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่กับครอบครัว ชุมชน อย่างอบอุ่นตลอดไป  หากสำเร็จ  ไทยจะเป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องการจัดระบบการดูแลผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพิง ให้แก่ประเทศอาเซียนด้วย  
                    
สำหรับการประชุมระดับชาติ ครั้งที่ 1 นี้  มีการบรรยายทางวิชาการจากผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวจากประเทศญี่ปุ่น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพื้นที่นำร่อง และการจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่นวัตกรรมของแต่ละพื้นที่

พฤษภาคม3/4-5  *********************************** 15 พฤษภาคม 2556
 


   
   


View 9    15/05/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ