รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตรียมผลักดันตำรับยาหม้อ“พัทธะปิตตะ”  รักษาโรคตับแข็ง และตำรับยา “วรรณฉวี-เทพรังษี” รักษาโรคสะเก็ดเงิน เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ใช้รักษาผู้ป่วยทุกสิทธิการรักษา หลังมีผลการวิจัยการรักษาโรคทั้ง 2 ชนิด ที่คลินิกแพทย์แผนไทยรพ.พระปกเกล้า จ.จันทบุรีได้ผลดีมาก เป็นความหวังในการลดการใช้ยาแผนปัจจุบัน โดยมีแนวโน้มแปรรูปเป็นสารสกัด ใช้สะดวก   คาดจะดำเนินการได้จริงในปีหน้านี้ 

          วันนี้ (16 พฤษภาคม 2556) ที่ โรงแรมสตาร์ ไอทีเซ็นเตอร์ อ.เมือง จ.ระยอง นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดงานมหกรรมสุขภาพถ้วนหน้าภาคพื้นบูรพา และงานมหกรรมสุขภาพดีวิถีบูรพา ซึ่งจัดโดยกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยของ 8 จังหวัดภาคตะวันออก ให้ประชาชนได้รับความรู้ ความเข้าใจการใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน สมุนไพรไทย ในการดูแลสุขภาพ เช่น การทำยาสมุนไพรในชุมชนโดยหมอพื้นบ้าน การนวดเหยียบเหล็กแดงรักษาอาการปวดเมื่อย ของจ.ปราจีนบุรี   โรงผลิตยาต้นแบบของ จ.สระแก้ว ผลิตภัณฑ์ความงาม เช่น สปาหู ของ จ.ชลบุรี  การทำสปามือ เท้าและหน้าด้วยตนเองของ จ.ระยอง การฝังเข็ม การจัดกระดูก นวดกดจุดตนเองของ จ.ระยอง จ.สมุทรปราการ การดูแลหญิงก่อนและหลังคลอดของ จ.สมุทรปราการ จ.ปราจีนบุรี   และ จ.ตราด     การผลิตยาสมุนไพรต้นแบบของ จ.สระแก้ว จัดระหว่างวันที่ 16-18 พฤษภาคม 2556 โดยในงานดังกล่าวมีการแจกกล้าพันธุ์ไม้สมุนไพร  วันละ 100 ต้นด้วย

          นายแพทย์ชลน่าน ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้นำการแพทย์แผนไทยมาใช้ในโรงพยาบาล  โดยได้ให้โรงพยาบาล 10 แห่งเปิดรักษาผู้ป่วยด้วยการแพทย์แผนไทย ใช้ยาสมุนไพรตำรับโดยตรงทั้งแผนกผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ในจำนวนนี้ เป็นโรงพยาบาลศูนย์ 2 แห่งได้แก่ โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี  และโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี  และส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนาแปรรูปสมุนไพรมาเป็นยาที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล ในรูปแบบที่ทันสมัย ใช้ง่าย เพื่อนำมารักษาอาการเจ็บป่วย  ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้มีมูลค่าตกปีละกว่า 2 แสนล้านบาท  

           นายแพทย์ชลน่านกล่าวว่า  จากการติดตามผลการรักษาด้วยการแพทย์แผนไทย ของคลินิกแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลพระปกเกล้าในรอบ 1 ปี  พบว่าได้ผลน่าพอใจ ประชาชนมีแนวโน้มใช้บริการเพิ่มขึ้น และมีข่าวดีสำหรับผู้ป่วยโรคตับแข็ง และโรคสะเก็ดเงิน โดยผลการศึกษาวิจัยการใช้ยาหม้อตำรับ“พัทธะปิตตะ” ซึ่งมีสมุนไพร 8 ชนิด รักษาโรคตับแข็ง  และการใช้ยาหม้อตำรับ “วรรณฉวี-เทพรังษี” รักษาโรคสะเก็ดเงิน  ระหว่างการแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบัน พบว่าได้ผลดี  เป็นข้อพิสูจน์ยืนยันถึงประสิทธิภาพของยาสมุนไพรไทยในการรักษาโรคเรื้อรัง    ขณะนี้นักศึกษาแพทย์ระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล  อยู่ระหว่างการวิจัยคุณสมบัติตัวยาสมุนไพรที่ใช้ในตำรับทางวิทยาศาสตร์ คาดว่าจะสำเร็จในปีนี้

          นายแพทย์ชลน่านกล่าวต่อไปว่า ขั้นต่อไป กระทรวงสาธารณสุขจะผลักดันตำรับยาหม้อรักษาโรคทั้ง 2 โรคนี้ เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนทุกสิทธิการรักษาใช้ได้ เนื่องจากขณะนี้มีเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยในสิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการ ใช้ได้เพียงกลุ่มเดียว  อีก 2 สิทธิ์คือโครงการ 30  บาทและประกันสังคมยังไม่สามารถใช้ได้ นอกจากนี้อาจจะมีการวิจัยต่อยอดพัฒนารูปแบบตัวยาให้ใช้ได้สะดวกขึ้น เป็นความหวังในการลดการใช้ยาแผนปัจจุบัน  ซึ่งการรักษาโรคตับแข็ง หากใช้ยาแผนปัจจุบันจะใช้ประมาณ 6-7 รายการ ค่ารักษารายละประมาณ 2,000 บาทต่อเดือน    

            ทางด้านนายแพทย์ฉัตรชัย สวัสดิไชย นายแพทย์เชี่ยวชาญ ประจำคลินิกแพทย์แผนไทย รพ.พระปกเกล้า จันทบุรี กล่าวว่า โรคตับแข็ง  เป็นโรคเรื้อรัง เกิดจากเนื้อตับมีการอักเสบ เกิดเนื้อเยื่อพังผืดรัดแข็ง มีคนไทยเสียชีวิตประมาณ 21,833 รายต่อปี มักพบในเพศชายและอยู่ในวัยแรงงาน ส่วนใหญ่มักมีประวัติเกี่ยวข้องกับการดื่มสุรา  มักมีอาการ ตัวตาเหลือง  ท้องโต แน่นท้อง ขาบวม กินไม่ได้ จากการศึกษาใช้ยาสมุนไพรตำรับ“พัทธะปิตตะ” รักษาโรคนี้  ซึ่งมีสมุนไพร 8 ชนิดเป็นหลัก เช่น หัวเต่ารั้ง หัวเต่าเกียด กำแพง 7 ชั้น หัวข้าวเย็นเหนือ หัวข้าวเย็นใต้ เป็นต้น แต่อาจเปลี่ยนสมุนไพรบางตัวให้เหมาะสมกับผู้ป่วยบางคน  โดยต้มยา 1 ห่อ ต่อ 1 สัปดาห์  กินติดต่อกันเป็นเวลา 8  สัปดาห์  ผลการรักษาปรากฎว่าท้องและขา ยุบบวม ผลตรวจเลือด พบการทำงานของตับดีขึ้น และดีขึ้นจนเข้าสู่ระดับปกติในเดือนที่  5  และต้องกินยาสมุนไพรต่อเนื่องจนครบ 8 เดือนจึงหยุดยาต้ม และยังคงให้รับประทานยาบำรุงตับต่อ ซึ่งเป็นยาสมุนไพรตำรับต่อไป

           ในปี 2555 มีผู้ป่วยโรคตับแข็งมารับการรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบัน ที่รพ.พระปกเกล้า จำนวน 3,171 ราย รับการรักษาที่คลินิกแพทย์แผนไทย 456 ราย หรือร้อยละ 14 จากการติดตามผลการรักษาเกือบทั้งหมดอาการดีขึ้น ค่าใช้จ่ายในการรักษาตามหลักการแพทย์แผนไทย จำนวน 12 ครั้งๆ ละ 1,424 บาท ตลอดการรักษารายละประมาณ 17,088 บาท  หากรักษาโดยใช้ยาแผนปัจจุบัน จะตกประมาณ 24,000 บาท

          สำหรับโรคสะเก็ดเงิน ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังเช่นกัน เกิดจากความผิดปกติของยีนส์ที่ควบคุมการสร้างผิวหนัง ทำให้ผิวหนังอัดแน่นและหนา ตกสะเก็ดเร็วประมาณ 3-4 วัน   โรคนี้รักษาไม่หายขาด  แต่ช่วยให้อาการดีขึ้นทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทย  หากผู้ป่วยมีอาการเครียด ดื่มสุราเป็นประจำ หรือรับประทานของดอง ของคาว ก็อาจทำให้โรคกำเริบขึ้นได้  ในปี 2555 มีผู้ป่วยที่รักษากับแพทย์แผนปัจจุบันประมาณ 3,000 ราย  มีผู้ป่วยรักษาที่คลินิกแพทย์แผนไทย จำนวน 422 ราย โดยใช้ยาสมุนไพรตำรับชื่อว่า “วรรณฉวี-เทพรังษี” ซึ่งมีสมุนไพร 7-14 ชนิด  เช่น โกฐหัวบัว โกฐกระดูก เทียนดำ เทียนข้าวเปลือก หัวตะเพียด  หัวหนอนตายหยาก หัวข้าวเย็นเหนือ หัวข้าวเย็นใต้ เป็นต้น  ผลการรักษาส่วนใหญ่ร้อยละ 72 อาการดีขึ้น และอาการดีมาก  รอยโรคสะเก็ดที่ผิวหนังทั่วตัวหายไปทั้งหมดประมาณร้อยละ 20  สร้างความพึงพอใจผู้ป่วยมาก ค่ารักษาตกรายละประมาณ 1,000 บาทต่อเดือน ใช้เวลา 6-8 เดือน   หากใช้ยาแผนปัจจุบันรักษาจะตกรายละ 10,000- 16,800 บาทต่อปี

************************************ 16 พฤษภาคม 2556



   
   


View 12    16/05/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ