รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขศรีลังกา ขอไทยช่วยพัฒนาระบบยาจำเป็นพื้นฐาน ทั้งระบบการจัดซื้อและการผลิตให้ได้ตามมาตรฐานสากลเพื่อให้มียาใช้เพียงพอในประเทศ เนื่องจากขณะนี้สามารถผลิตยาได้เพียง 40 กว่ารายการ และคงความร่วมมือด้านวิชาการในการรักษาโรคไข้เลือดออก เพื่อลดการเสียชีวิต โดยจะมีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือระหว่างองค์การเภสัชกรรมทั้ง 2 ประเทศในเร็วๆ นี้ และในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขไทยเสนอแต่งตั้งปลัดกระทรวงสาธารณสุขไทย ร่วมเป็นผู้แทนสำรองเป็นคณะกรรมการบริหารกองทุนโลกเพื่อโรคเอดส์ มาลาเรียและวัณโรค ร่วมกับศรีลังกาด้วย
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือความร่วมมือกับ ฯพณฯ ไมตรีพาลา ศิริเสนา (Maithripala Sirisena) รัฐมนตรีสาธารณสุขของประเทศศรีลังกา ระหว่างร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยที่ 66 ที่นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ว่าการหารือในครั้งนี้มี 3 ประเด็น ประเด็นที่ 1.ประเทศศรีลังกา ขอความร่วมมือประเทศไทย ในการจัดหายาทั้งรัฐและเอกชน และพัฒนาสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตยาให้ประเทศศรีลังกาสามารถผลิตยาได้เอง เนื่องรัฐบาลศรีลังกามีปัญหาในการจัดซื้อยาในประเทศค่อนข้างมาก แม้จะมีการจัดซื้อระดับประเทศก็ตาม เนื่องจากศรีลังกาสามารถผลิตยาในประเทศได้เพียง 40 กว่ารายการเท่านั้น
ประเด็นที่2.รัฐบาลศรีลังกาขอให้ประเทศไทยคงความช่วยเหลือด้านวิชาการเรื่องโรคไข้เลือดออก เนื่องจากขณะนี้ศรีลังกามีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น สิ่งที่ต้องการคือการรักษาผู้ป่วย เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต โดยไทยได้มอบหมายให้กรมการแพทย์ที่ดูแลเรื่องการรักษา เป็นแกนในเรื่องนี้ และได้ให้กรมควบคุมโรคพัฒนาในเรื่องเทคนิควิธีการการป้องกันโรค เพื่อเสริมความเข้มแข็งในการลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ด้วย และประเด็นที่ 3. ในปีนี้ประเทศไทยได้เสนอแต่งตั้ง นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้แทนสำรองร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารกองทุนโลกเพื่อต่อต้านโรคเอดส์ มาลาเรียและวัณโรค (Global Fund) ร่วมกับรัฐบาลศรีลังกาในฐานะที่เป็นประธานกองทุนโลก โดยมีหนังสือแต่งตั้งไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะทำให้เพิ่มความเข้มแข็งในการควบคุมป้องกันโรคในภูมิภาคและระดับโลก เนื่องจากไทยมีประสบการณ์และประสบผลสำเร็จเช่นโรคเอดส์ เป็นต้น
นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องการจัดหายานั้น สิ่งที่จะเร่งดำเนินการความร่วมมือดังกล่าวในระยะแรกคือ การจัดทำข้อตกลงในบันทึกความเข้าใจ หรือเอ็มโอยู (Memorandum Of Understanding) ระหว่างองค์การเภสัชกรรมของไทยและศรีลังกา เพื่อการลงนามในเร็ว ๆ นี้ ถ้าเป็นไปได้จะพยายามดำเนินการให้เสร็จก่อนการเยือนประเทศศรีลังกาของนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ในการจัดหายาให้แก่ประเทศศรีลังกา จะต้องกำหนดรายชื่อยาที่ต้องการและจำเป็นต้องใช้อย่างเร่งด่วน เช่นยาปฏิชีวนะ น้ำเกลือ ยาที่ใช้กับโรคที่พบในพื้นที่ เป็นต้น โดยจะใช้กระบวนการจัดซื้อยาที่องค์การเภสัชกรรมผลิต โดยผ่านกระบวนการรัฐต่อรัฐหรือที่เรียกว่าจีทูจี (G2G) ส่วนการพัฒนาเทคโนโลยี วิชาการระบบการผลิตยาให้กับรัฐบาลศรีลังกา จะสนับสนุนเรื่องมาตรฐานการผลิตในระดับสากลหรือจีเอ็มพี (GMP) โดยไทยจะให้ภาคเอกชนไทยคือสมาคมผู้ผลิตยาในประเทศไทย สนับสนุนร่วมมือกับสมาคมผู้ผลิตยาในศรีลังกา ทั้งด้านการผลิตและการขายยาด้วย ซึ่งรวมถึงเรื่องน้ำเกลือด้วย เนื่องจากภายในเดือนกรกฎาคม 2556 นี้ โรงงานผลิตน้ำเกลือที่องค์การเภสัชกรรมไทยถือหุ้น จะมีกำลังการผลิตเกือบ 100 ล้านขวดต่อปี ซึ่งเราจะพัฒนาให้ผ่านมาตรฐานจีเอ็มพีของอาเซียนด้วย
************************* 21 พฤษภาคม 2556
View 12
21/05/2556
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ