นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังได้รับเชิญจากองค์การอนามัยโลกให้เป็นประธานเปิดการประชุมว่าด้วยธรรมาภิบาลระบบยาและระบบสุขภาพในประเทศไทย ในเวทีประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยที่ 66 ที่นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ว่า องค์การอนามัยโลกขอให้ประเทศไทยร่วมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมว่าด้วยธรรมาภิบาลระบบยาหรือระบบจีจีเอ็ม (Good Governance For medicine : GGM) โดยองค์การอนามัยโลกชื่นชมประเทศไทยว่าเป็นประเทศนำร่องที่ก้าวหน้าที่สุดเป็นตัวอย่างที่ดีของประเทศอื่น และขอให้นำเสนอประสบการณ์ในการทำงานของประเทศไทย ในห้องประชุมแยกเฉพาะระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งนี้ร่วมกับประเทศมาลาวีด้วย (WHO Side Meeting “Good Governace in Pharmaceutical Sector : The Case of Thailand and Malawi”)
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวว่า ธรรมาภิบาลระบบยาและระบบสุขภาพ เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทยเข้าร่วมกับองค์การอนามัยโลก และเป็นประเทศนำร่องในเรื่องนี้ตั้งแต่ระยะที่ 1 คือการประเมินสถานการณ์ การวางระบบ จนถึงขณะนี้อยู่ในระยะที่ 3 คือระบบเฝ้าระวังเตือนภัย สิ่งที่จะดำเนินการต่อจากนี้ไปก็คือ การมุ่งเน้นผลลัพธ์ให้เกิดธรรมาภิบาล ความโปร่งใส รวมทั้งจัดการกับปัญหาการรั่วไหล และคอรัปชั่น ในระบบยาและระบบสุขภาพให้เกิดผลสำเร็จต่อไป
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า กลไกการดำเนินการธรรมาภิบาลในระบบยาเรื่องหนึ่งก็คือ การจับตามองความไม่โปร่งใสและทักท้วง (Whistle blowing Mechanism) ซึ่งเป็นการตรวจสอบจากภาคประชาชน ซึ่งองค์กรหรือชมรมต่างๆ ในประเทศไทยได้มีการนำสื่อต่างๆมาใช้กันมากนับว่ามีประโยชน์ เป็นเครื่องมือเตือนให้ทราบว่าระบบมีปัญหาหรือไม่ ซึ่งไทยใช้ได้ผล แต่อย่างไรก็ตาม หากนำระบบไปใช้อย่างไม่ถูกต้องตามหลักจริยธรรม ก็จะกลายเป็นเครื่องมือในการโจมตีหรือทำลายคนได้เช่นกัน จึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง
ทั้งนี้ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกรายงานว่า ขณะนี้ ทั่วโลกมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพประมาณ 4.4 ล้านล้าน ดอลลาร์สหรัฐ และมีปัญหาการรั่วไหลหรือคอรัปชั่นในเรื่องการจัดซื้อยา ประมาณร้อยละ 10-25 จึงจำเป็นต้องสร้างธรรมาภิบาลระบบยาและระบบสุขภาพ โดยขณะนี้นี้มีประเทศนำร่องใช้ระบบนี้แล้ว 36 ประเทศทั่วโลก
ด้านนายแพทย์ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยได้กำหนดกรอบยุทธศาสตร์ด้านธรรมาภิบาลระบบยาและระบบสุขภาพ และจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อทำให้เกิดความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงยาอย่างเท่าเทียมกัน มีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ จัดระบบการเฝ้าระวังผลประโยชน์ทับซ้อน และใช้ระบบการจัดซื้อยารวม การต่อรองราคายากำพร้าที่มีผู้ขายรายเดียว และเผยแพร่ข้อมูลราคายาบนเว็บไซต์ สามารถเปรียบเทียบราคายาที่ซื้อจากโรงพยาบาลต่าง ๆ และควบคุมราคายา ลดการรั่วไหลและให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการต่อไปตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาล คือสร้างความโปร่งใสให้มากขึ้น ปรับยุทธศาสตร์และกรอบธรรมาภิบาลให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อทำให้การรั่วไหล และการคอรัปชั่นหมดไปจากระบบ
นายแพทย์ชาญวิทย์กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการปรับปรุงระบบคลังยาให้รวมกันเป็นระดับเขตควบคุมโดยกรรมการจากทุกโรงพยาบาลภายในเขต ซึ่งจะทำให้ลดปัญหาการรั่วไหล และเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกได้กล่าวในที่ประชุมว่า ธรรมาภิบาลของระบบยาและระบบสุขภาพเป็นพื้นฐานสำคัญของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งทุกประเทศกำลังให้ความสนใจมากในขณะนี้ และได้กล่าวชื่นชมประเทศไทยว่าเป็นประเทศที่มีระบบการปฏิบัติดีที่สุด (Best Practice) และขอความร่วมมือให้ไทยช่วยพัฒนาระบบดังกล่าวให้แก่ประเทศต่างๆ ที่มีความสนใจต่อไป โดยองค์การอนามัยโลกได้นำธรรมาภิบาลระบบยาของประเทศไทย เผยแพร่ในเว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลกคือ http://www.who.int/features/2010/medicines_thailand/en/ ทั้งนี้ ระหว่างที่ไทยกล่าวถึงประสบการณ์ในที่ประชุมได้รับความสนใจจากหลายประเทศและซักถามเรื่องการดำเนินการ เช่นจีน ประเทศในกลุ่มอาฟริกา