นายแพทย์ประดิษฐ  สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในการเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลก ที่นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 20-22 พฤษภาคม  2556 ได้พบกับ Dr.A F M Ruhal HAQUE, Minister for Health and Family Welfare รัฐมนตรีสาธารณสุขบังคลาเทศ เพื่อหารือและขอบคุณกระทรวงสาธารณสุขไทยใน 3 เรื่องคือ 1.ขอบคุณไทยที่ให้การสนับสนุนในการเสนอร่างญัตติการดูแลเด็กออทิสซึมเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกในครั้งนี้ 2.ขอการสนับสนุนจากไทยในเรื่องการพัฒนาบุคลากร  โดยบังคลาเทศจะจัดส่งบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขมาเรียนที่ประเทศไทย และ3.ขอให้ไทยสนับสนุนผู้สมัครจากบังคลาเทศ ที่จะลงเลือกตั้งในตำแหน่งผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(Regional Director) ซึ่งตำแหน่งจะว่างลงในปีนี้ 

       นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า ในเรื่องการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้กระทรวงสาธารณสุขและโรงเรียนแพทย์ร่วมกันพัฒนาให้เป็นศูนย์การฝึกอบรมนานาชาติ โดยจะมีการปรับปรุงหลักสูตรต่างๆ ใช้ภาษาอังกฤษในการจัดการเรียนการสอนเป็นหลัก รวมทั้งมีการหารือเรื่องการออกใบอนุญาตให้แพทย์พยาบาลสามารถปฏิบัติวิชาชีพได้ชั่วคราวระหว่างที่มาเรียน ส่วนเรื่องการที่บังคลาเทศขอให้ไทยสนับสนุนผู้สมัครจากบังคลาเทศลงเลือกตั้งในตำแหน่งผู้อำนวยการภูมิภาคนั้น จะนำข้อเสนอไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศอย่างดีที่สุด

        ทั้งนี้ รัฐมนตรีสาธารณสุขบังคลาเทศ ได้ขอบคุณกระทรวงสาธารณสุขไทยที่ให้การสนับสนุนการเสนอร่างญัตติการดูแลเด็กออทิสติก  (Autistic) เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกในครั้งนี้  ซึ่งเรื่องการดูแลเด็กออทิสติกนี้ กระทรวงสาธารณสุขไทยให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีทรงให้ความสนใจเป็นพิเศษ และขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขไทยกำลังพัฒนารูปแบบการดูแลเด็กออทิสติกในชุมชน เนื่องจากไทยมีเด็กอยู่ในชุมชนประมาณ 2-3 แสนคน และถูกมองว่าเป็นเด็กดื้อเด็กซน และยังไม่ได้รับการวินิจฉัย  จึงต้องเร่งพัฒนาเครื่องมือตรวจคัดกรองให้มีประสิทธิภาพ  และรูปแบบการดูแลเด็กออทิสติกด้วยกิจกรรมบำบัดที่เหมาะสม   

นายแพทย์ประดิษฐกล่าวอีกว่า โรคออทิสติก มีสาเหตุเกิดจากความผิดปกติของพัฒนาการทางสมองที่ล่าช้า 3 ด้านคือด้านสังคม ภาษาและพฤติกรรม พบตั้งแต่กำเนิด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก แต่ปัญหาใหญ่คือประชาชนยังเข้าใจเรื่องนี้น้อย เนื่องจากเด็กสื่อสารไม่ได้จึงเลี้ยงดูกันเองไม่พาไปพบแพทย์  ซึ่งโรคนี้สามารถรักษาได้หากพบตั้งแต่ช่วง 2 ปีแรก แต่ปัญหาที่ผ่านมาพบว่าเด็กกลุ่มนี้ยังเข้าถึงบริการได้น้อย หากญัตติการแก้ไขเด็กออทิสติกขององค์การอนามัยโลกประสบผลสำเร็จ จะช่วยให้เด็กที่มีปัญหาได้รับการดูแลตั้งแต่ต้นและมีโอกาสหายเป็นปกติ เรียนหนังสือได้ ซึ่งที่ผ่านมามีเด็กออทิสติกประสบผลสำเร็จเป็นแพทย์ วิศวกรและมีอยู่ในเกือบทุกวิชาชีพ  

********************************************  23 พฤษภาคม 2556



   
   


View 13    23/05/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ