กระทรวงสาธารณสุขไทย ศึกษาดูงานระบบดูแลผู้สูงอายุของประเทศญี่ปุ่น เตรียมนำมาศึกษา ปรับใช้ให้เหมาะสมกับไทย เผยในอีก 10 ปีจำนวนผู้สูงอายุไทยจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25 ของประชากรทั้งประเทศ เนื่องจากอัตราเจริญพันธุ์ลดลง หญิงไทย 1 คนมีบุตรเฉลี่ยเพียง 1.5 คน เป็นปัญหาระดับชาติ ต้องมีการจัดโครงสร้างด้านงบประมาณและระบบการดูแลที่เหมาะสม    

         นายแพทย์ประดิษฐ  สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในระหว่างวันที่ 23-26 พฤษภาคม 2556 นี้  ได้นำคณะผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับคณะของนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  เพื่อศึกษาระบบการดูแลผู้สูงอายุของประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งประสบการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อเตรียมตัวรับมือ เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โครงสร้างผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราเจริญพันธุ์ของไทยลดลง หญิงไทย 1 คนมีบุตรเฉลี่ยเพียง 1.5 คน โดยคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ไทยจะมีสัดส่วนของผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 25 หรือมี 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งจะเป็นปัญหาระดับชาติ จึงต้องมีการจัดโครงสร้างด้านงบประมาณและระบบการดูแลรองรับให้เหมาะสม

      นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า  ในการวางแผนรับมือการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ  กระทรวงสาธารณสุขไทย ได้กำหนดเป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะกลาง  โดยต้องทำให้ประชาชนไทยมีอายุคาดเฉลี่ยให้ได้ 80 ปี  และมีอายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดี (Quality Adjusted Life expectancy) ยืนยาวให้ได้ถึง 72 ปี มีระบบรองรับผู้สูงอายุที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผล สามารถลดภาระครอบครัวและอยู่กับครอบครัวได้ยาวนาน ส่วนเป้าหมายระยะยาวจะใช้หลายมาตรการเช่น เพิ่มอัตราเจริญพันธุ์ ให้หญิงไทยมีบุตรเฉลี่ยเพิ่มเป็น 2.1 คน มีระบบการลดหย่อนภาษี ให้สถานที่ทำงานขนาดใหญ่ทุกแห่งต้องมีศูนย์รับเลี้ยงเด็ก บรรเทาภาระพ่อแม่ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้โครงสร้างอายุประชากรเป็นรูปแท่งสี่เหลี่ยมสมดุลทุกช่วงอายุ ไม่มีปัญหาขาดแคลนวัยแรงงาน 

    “การไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ เป็นการเรียนรู้ประสบการณ์ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย  เนื่องจากระบบการดูแลผู้สูงอายุของประเทศญี่ปุ่น เป็นระบบฟรีหรือแบบร่วมจ่าย (Free Schedule or Co-Payment) ซึ่งเป็นระบบที่ต้องนำมาศึกษาก่อน” นายแพทย์ประดิษฐกล่าว

        นายแพทย์ประดิษฐกล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องการดูแลผู้สูงอายุญี่ปุ่นแบบพำนักระยะยาวหรือลองสเตย์ (Long Stay) ซึ่งภาคเอกชนในประเทศไทยมีความพร้อมนั้น  หากมีโอกาสนายกรัฐมนตรีของไทยอาจหยิบยกขึ้นมาหารือกับญี่ปุ่น แต่อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการดูแลผู้สูงอายุญี่ปุ่นแบบลองสเตย์ได้ โดยจะมีการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ รวมทั้งการสื่อสารของกลุ่มแพทย์พยาบาล ผู้ดูแลผู้สูงอายุจะต้องพูดภาษาญี่ปุ่นได้ โดยกระทรวงสาธารณสุขจะหารือกับสภาวิชาชีพก่อน ส่วนเรื่องอื่นๆ ไทยมีความพร้อมอยู่แล้ว และอาจจะมีแก้ไขกฎระเบียบอำนวยความสะดวกในการเข้ามาใช้บริการมากขึ้น 

************************************** 23 พฤษภาคม 2556

 



   
   


View 9    23/05/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ