สาธารณสุข  เร่งควบคุมป้องกันวัณโรค และปัญหาเชื้อวัณโรคดื้อยา ในปีนี้ใช้ระบบให้ อสม. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ร่วมกับภาคเอกชน สำรวจและค้นหาผู้ป่วยจากกลุ่มเสี่ยงสำคัญ โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานและผู้สูงอายุ มีแนวโน้มเป็นคู่หูตัวใหม่ของเชื้อวัณโรคเนื่องจากมีภูมิคุ้มกันของร่างกายน้อย กำชับให้แพทย์ตรวจคัดกรอง หากพบจะให้การรักษาฟรีโดยมีพี่เลี้ยงกำกับให้กินยาจนครบสูตร 6-8 เดือนและหายขาด สถานการณ์ล่าสุดคาดไทยมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่เพิ่มปีละเกือบ 90,000 ราย และมีผู้ป่วยติดเชื้อวัณโรคชนิดดื้อยาหลายขนานราว 2,000 ราย
 
วันนี้ (29 พฤษภาคม 2556) ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพฯ นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมสัมมนาวิชาการวัณโรคและโรคระบบทางเดินหายใจ ครั้งที่ 9 จัดโดยกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย ในประบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีแพทย์ พยาบาล นักวิชาการ นักเทคนิคการแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข จากทั่วประเทศร่วมประชุม พร้อมมอบนโยบายในการควบคุมวัณโรคของไทย เพื่อเตรียมความพร้อมระบบการแก้ไขปัญหา ก่อนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน   
 
นายแพทย์ณรงค์ให้สัมภาษณ์ว่า วัณโรคยังคงเป็นปัญหาแพร่ระบาดทั่วโลก เป็นสาเหตุการเสียชีวิตปีละกว่า 1.7 ล้านคน องค์การอนามัยโลกจัดให้ไทยเป็น 1 ใน 22 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรคในระดับรุนแรง  คาดว่าขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรคทั้งรายเก่าและใหม่ประมาณ 110,000 ราย มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มปีละประมาณ 86,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 9,800 ราย ประการสำคัญที่สุดที่ต้องเร่งจัดการปัญหาให้เร็วและมีประสิทธิภาพที่สุดก็คือปัญหาเชื้อวัณโรคดื้อยาหลายขนานและดื้อยารุนแรง ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณเพื่อการตรวจวินิจฉัยและรักษาสิ้นเปลืองกว่าเชื้อวัณโรคทั่วไป 50 ถึง 100 เท่า องค์อนามัยโลกประมาณการณ์ว่าประเทศไทยน่าจะมีผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานและวัณโรคดื้อยารุนแรงประมาณ 2,000 ราย และอาจแพร่เชื้อชนิดนี้ไปสู่คนอื่นได้อีก 
                       
 
ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานเชิงรุกมากขึ้น    เพิ่มประสิทธิภาพจัดการปัญหาให้บรรลุผลสำเร็จเร็วขึ้น โดยร่วมมือกับสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และให้ อสม. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข สำรวจและค้นหาผู้ป่วยจากกลุ่มเสี่ยงสำคัญ ตั้งเป้าค้นหาผู้ป่วยให้ได้เร็ว และให้การรักษาให้หายขาดทุกรายไม่ให้มีปัญหาผู้ป่วยขาดยา ซึ่งจะลดปัญหาเชื้อวัณโรคดื้อยาได้   และลดการเสียชีวิตให้เหลือน้อยกว่าร้อยละ 5
                       
                      
    
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า จากการติดตามความก้าวหน้าของการควบคุมวัณโรคในประเทศไทย  พบว่าในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่เป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อวัณโรคง่ายในอดีตเช่นผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ผู้ติดสุรา โรคหอบหืด  ผู้ที่อยู่ในชุมชนอัด มีระบบการค้นหา สามารถควบคุมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่เรื่องที่ต้องเพิ่มความสนใจเป็นพิเศษอีก 2 กลุ่มคือผู้ป่วยเบาหวาน และผู้สูงอายุ มีข้อมูลทางการแพทย์ทั่วโลกว่ากำลังมีแนวโน้มจะเป็นคู่หูของเชื้อวัณโรคด้วย เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำกว่ากลุ่มอื่นๆ และจำนวนผู้ป่วยเบาหวานของไทยมีมาก ขณะนี้คาดว่ามีประมาณ 3 ล้านคน แนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการขาดการออกกำลังกายและการกินอาหารที่ไม่สมดุล  ขณะเดียวกัน ไทยมีจำนวนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปขณะนี้ประมาณ 9.5 ล้านคน กำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมของผู้สูงอายุ จึงได้ให้โรงพยาบาลที่มีคลินิกโรคเบาหวานและคลินิกผู้สูงอายุ เพิ่มระบบการตรวจคัดกรองหาการติดเชื้อวัณโรคด้วย  หากพบให้รักษาฟรี
 
จนหายขาด นอกจากนี้ให้ทุกจังหวัดจัดระบบประกันสุขภาพให้ต่างด้าวที่เข้ามาใช้แรงงานหรือติดตามครอบครัวทุกคน จะได้รับการตรวจหาวัณโรคและให้การรักษาจนหายขาด เพื่อเตรียมมาตรการของไทยพร้อมก่อนที่ไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ซึ่งคาดว่าจะมีต่างด้าวเข้าไทยมากขึ้น     
 ทางด้านนายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการสำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สัญญาณอาการของผู้ป่วยวัณโรคที่โดดเด่น สังเกตง่ายๆ ก็คือ  มีอาการไอเรื้อรังเกินกว่า 2 อาทิตย์   มักมีไข้ต่ำๆ ในช่วงบ่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด ร่างกายผ่ายผอมซูบซีด หากพบผู้ที่มีอาการที่กล่าวมา ให้พาไปตรวจยืนยันที่โรงพยาบาล โดยการตรวจเสมหะ และเอ็กซเรย์ หากพบป่วยเป็นวัณโรคจะให้การรักษาโดยการกินยาตามมาตรฐานสากล ซึ่งขณะนี้ยาทันสมัย ได้รวมยารักษาที่ใช้ได้ผลดีหลายชนิดไว้ในเม็ดเดียวกัน กินง่ายขึ้น
 
นายแพทย์เฉวตสรร กล่าวต่อว่า ผู้ป่วยวัณโรคที่กินยาทุกราย จะให้มีพี่เลี้ยงเช่น ญาติ คนใกล้ชิด หรือ อสม.คอยกำกับให้กินยาตามแผนรักษานานประมาณ 6-8 เดือน จนกว่าจะหายขาด ทั้งนี้สาเหตุสำคัญที่ทำให้เชื้อวัณโรคดื้อยาซึ่งพบเหมือนกันทั่วโลกก็คือ ผู้ป่วยขาดยาหรือกินยาไม่ครบตามสูตร บางรายพอกินยาไปได้ระยะหนึ่งแล้วอาการดีขึ้น คิดว่าหายแล้วจึงหยุดกิน และโรคนี้หลังรักษาหายแล้วมีโอกาสกลับมาเป็นใหม่ได้อีก เนื่องจากเชื้อชนิดนี้ติดต่อทางการหายใจ โดยระยะที่แพร่เชื้อสู่คนอื่นได้คือช่วงที่ตรวจพบเชื้ออยู่ในเสมหะ      
********************************** 29 พฤษภาคม 2556
 


   
   


View 18    29/05/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ