สาธารณสุข หนุนคนไทยดื่มนมทุกวัน เผยขณะนี้อัตราคนไทยดื่มเฉลี่ยประมาณ 14 ลิตรต่อคนต่อปี  ต่ำกว่าเอเชีย-โลก 4-7 เท่าตัว ส่งผลให้เด็กไทยเจริญเติบโตไม่สมวัย วัยรุ่นไทยอายุ 18 ปีค่อนข้างเตี้ย ผู้ชายสูงเฉลี่ย 167.1 เซนติเมตร หญิงเฉลี่ย 157.4 เซนติเมตร ตั้งเป้าอีก 10 ปีจะสร้างเด็กวัยรุ่นไทยให้หุ่นสูง-สมาร์ท ชายสูง 175 เซนติเมตร หญิงสูง 162 เซนติเมตร แนะผู้ที่ดื่มนมแล้วท้องอืด ท้องเสียมีวิธีแก้

       นายแพทย์ชลน่าน   ศรีแก้ว   รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข   ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 1 มิถุนายนทุกปี  องค์การอาหารแห่งสหประชาชาติ หรือเอฟเอโอ (FAO) กำหนดให้เป็นวันดื่มนมโลก (World Milk Day) เพื่อให้ประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญและสนับสนุนการบริโภคนม ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายชัดเจนในการส่งเสริมให้คนไทยทุกวัยดื่มนม เริ่มตั้งแต่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยมีนโยบายให้เด็กหลังคลอดกินนมแม่อย่างเดียวตลอด 6 เดือน เนื่องจากนมแม่เป็นนมที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก เป็นนมชนิดเดียวที่เป็นวัคซีนป้องกันโรคให้เด็กทารกไม่เจ็บป่วยง่าย ผลดีของนมแม่จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการดี ร่างกายเจริญเติบโตแข็งแรง สติปัญญาดี ต่อจากนั้นให้กินอาหารเสริมควบคู่กับนมแม่ไปจนถึง 2 ปี  โดยมีเป้าหมายจะดำเนินการให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 60 ของเด็กที่เกิดใหม่ปีละประมาณ 8 แสนคน

          นายแพทย์ชลน่านกล่าวต่อว่า เมื่อโตขึ้นอาหารที่จะแนะนำคนไทยเพิ่มการบริโภคให้มากขึ้นคือ การดื่มนม วัว ซึ่งมีหลายประเภททั้งนมธรรมดา นมพร่องมันเนย และนมขาดมันเนย ซึ่งนมเป็นแหล่งอาหารประเภทโปรตีนที่มีคุณภาพดี ช่วยในการเจริญเติบโตร่างกายในเด็ก และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกายในผู้ใหญ่  มีวิตามินต่างๆที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น วิตามินเอ บีหนึ่ง บีสอง บีหก บีสิบสอง วิตามินดี และแคลเซียม  ฟอสฟอรัสบำรุงกระดูกให้แข็งแรง  กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้เด็กไทยเติบโตอย่างสมส่วน มีรูปร่างสูงตามวัย ไม่อ้วน ซึ่งจะต้องปรับพฤติกรรมให้สมดุล ทั้งเรื่องการออกกำลังกาย  การรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ และการดื่มนม 

            ผลสำรวจล่าสุดพบว่าคนไทยดื่มนมน้อยมาก เฉลี่ยคนละประมาณ 14 ลิตรต่อคนต่อปี ขณะที่อัตราการดื่มนมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เฉลี่ยคนละ 60 ลิตรต่อปี และทั่วโลกเฉลี่ยคนละ 103.9 ลิตรต่อปี หรือกล่าวได้ว่าอัตราดื่มนมคนไทยยังต่ำกว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโลก 4-7  เท่าตัว จึงทำให้เด็กไทยเมื่อมีอายุ 18 ปีพบว่ามีความสูงเฉลี่ยค่อนข้างเตี้ย ผู้ชายสูงเฉลี่ย 167.1 เซนติเมตรผู้หญิงสูงเฉลี่ย 157.4 เซนติเมตร กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าพัฒนาสุขภาพอีก 10 ปีหรือภายในพ.ศ.2556 จะให้เด็กวัย 18 ปี เติบโตมีหุ่นสูง-สมาร์ท ผู้ชายสูงให้ได้เฉลี่ย 175 เซนติเมตร ผู้หญิงสูงให้ได้เฉลี่ย 162 เซนติเมตรและคนไทยอายุยืนเฉลี่ย 80 ปี       

         ทางด้านนายแพทย์เจษฎา  โชคดำรงสุข อธิบดีกรมอนามัยกล่าวว่า  ตามข้อปฏิบัติการกินอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย และธงโภชนาการแนะนำไว้ก็คือ ดื่มนมให้เหมาะสมตามวัย วัยเด็กยังต้องการความเจริญเติบโต มีความต้องการสารอาหารเพื่อการเจริญเติบโต เด็กก่อนวัยเรียนให้ดื่มนมชนิดธรรมดาวันละ 2-3 แก้ว วัยเรียนดื่มวันละ 2 แก้ว ส่วนวัยผู้ใหญ่ต้องการสารอาหารเพิ่มการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ แนะนำให้ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ดื่มนมชนิดพร่องมันเนยหรือขาดมันเนย เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะไขมันเกินดื่มวันละ 1 แก้ว ส่วนหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตรวันละ 2 แก้ว 

          ทั้งนี้ในเรื่องการดื่มนม ประชาชนยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน หรือเข้าใจไม่ถูกต้อง โดยเข้าใจว่า ลูกจะโต สูงใหญ่ได้ควรจะต้องดื่มนมแทนน้ำเปล่า ซึ่งข้อมูลทางวิชาการแม้ว่าจะไม่มีเกิดผลเสียต่อร่างกาย แต่จะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน เพราะหลังดื่มนมแล้วจะทำให้อิ่ม และไม่อยากรับประทานอาหารอื่นอีก ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดก็คือแนะนำให้ดื่มนมหลังมื้ออาหารอย่างน้อย 1 แก้ว สำหรับผู้ที่ดื่มนมแล้วท้องอืด ท้องเสีย ซึ่งมักเกิดในผู้ที่กินนมไม่ต่อเนื่องหรือไม่ได้ดื่มเป็นประจำตั้งแต่เด็ก เนื่องจากคนเอเชียส่วนใหญ่จะมีน้ำย่อยน้ำตาลแลคโตสซึ่งอยู่ในนมลดลงมากเมื่ออายุ 3 ปีขึ้นไป จึงไม่เพียงพอที่จะไปย่อยน้ำตาลแลคโตสในนม  มีวิธีแก้ไขให้เริ่มด้วยการดื่มนมในปริมาณน้อยๆ ก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มปริมาณเพื่อให้ร่างกายปรับสภาพ ควรดื่มนมหลังอาหาร หรือไม่ควรดื่มขณะท้องว่าง   

          นายแพทย์เจษฎากล่าวต่อว่า เด็กที่มีรูปร่างเตี้ยที่เป็นผลมาจากการเลี้ยงดู จะมีผลเสียต่อพัฒนาการทางสติปัญญา การเรียนรู้  พบว่าส่วนใหญ่จะมีไอคิวต่ำกว่าเด็กที่ส่วนสูงเป็นไปตามวัย และอาจมีผลต่อการประกอบอาชีพบางอาชีพ  หรือผู้หญิงที่มีรูปร่างเตี้ยหากตั้งครรภ์จะเกิดภาวะแทรกซ้อนในระหว่างคลอดได้ง่าย  เนื่องจากกระดูกเชิงกรานแคบ มีโอกาสเสี่ยงที่ลูกจะมีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อยกว่า 2,500 กรัม และอาจเกิดภาวะเช่นนี้ไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานได้ ในการพัฒนาความสูงของเด็กให้สมวัยมีช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดคือ เด็กหญิงจะเริ่มเจริญเติบโตเร็วในช่วงอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ส่วนเด็กผู้ชายจะเริ่มเติบโตเร็วช่วงศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ขอให้เตรียมตัวก่อนทั้งเรื่องการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  การรับประทานอาหารครบ 3 มื้อ รับประทานให้ครบ 5 หมู่และหลากหลาย รวมทั้งเพิ่มการกินผักและผลไม้ ดื่มนมให้เหมาะสมตามวัย และออกกำลังกายสม่ำเสมอ  เพื่อให้มีการเจริญเติบโตอย่างสมส่วน รูปร่างสูงตามวัย ไม่อ้วน และดื่มนมทุกวัน

                      *******************************  1  มิถุนายน 2556            



   
   


View 13    01/06/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ