วันนี้ (13 มิถุนายน 2556) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมทางไกลร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อกำชับและเร่งรัดมาตรการควบคุมป้องกันไข้เลือดออก ว่า สถานการณ์ไข้เลือดออกขณะนี้อยู่ในช่วงการระบาด เมื่อเทียบกับปีที่แล้วพบว่าจำนวนผู้ป่วยสูงกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ  3 เท่าตัว กระทรวงสาธารณสุขได้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์มาตั้งแต่ต้นปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 8 มิถุนายน 2556 พบผู้ป่วยสะสม 43,609 คน เสียชีวิต 50 คน ขณะที่ปี 2555 ในช่วงเดียวกัน พบผู้ป่วยประมาณ 14,045 คน เสียชีวิต 9 คน ดังนั้นในช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะจะมีผู้ป่วยสูงสุดในช่วง 2 - 3 เดือนนี้ 

         นายแพทย์ณรงค์กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ปรับการทำงานจากระยะเฝ้าระวังเป็นระยะของการต่อสู้กับไข้เลือดออก ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดติดตามดูแลเรื่องนี้อย่างเต็มกำลัง และให้ตั้งวอร์รูมไข้เลือดออกทุกจังหวัดและทุกอำเภอ จากเดิมมีอยู่ประมาณ 20 กว่าจังหวัด โดยกระทรวงสาธารณสุขจะประสานกับปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ รวมทั้งได้ประสานกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดูแลกลุ่มเด็กนักเรียนในโรงเรียน ให้จัดกิจกรรมต่างๆ เช่น สำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในโรงเรียน ให้ความรู้หน้าเสาธงทุกวัน เป็นต้น

         นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ในด้านการรักษาพยาบาล ได้สั่งการให้โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) ทุกจังหวัด ตั้งทีมแพทย์ทั้งกุมารแพทย์และอายุรแพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ใหญ่ เป็นพี่เลี้ยงเพื่อให้ความรู้และให้คำปรึกษาแก่แพทย์และพยาบาลในการดูแลรักษาไข้เลือดออกในโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ทุกแห่งตลอด 24 ชั่วโมง จัดให้มีมุมไข้เลือดออก (Dengue Corner) เพื่อเป็นจุดรวมผู้ป่วยที่สงสัยว่าอาจเป็นไข้เลือดออก เพื่อให้การดูแลอย่างใกล้ชิด ให้เตรียมการเรื่องธนาคารเลือด และการส่งต่อผู้ป่วยที่มีแนวโน้มอาการจะรุนแรงจากโรงพยาบาลชุมชน ไปยังโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป เพื่อลดการเสียชีวิตของผู้ป่วย และให้ป้องกันยุงกัดผู้ป่วย โดยทายากันยุงหรือกางมุ้ง เนื่องจากผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีเชื้อไวรัสอยู่ในกระแสเลือด หากถูกยุงกัด ยุงจะนำเชื้อไข้เลือดออกไปแพร่ให้คนอื่นได้ ควบคุมไม่ให้มีลูกน้ำและยุงลายในโรงพยาบาล รวมทั้งหากมีผู้ป่วยไข้เลือดออกในโรงพยาบาลให้รายงานข้อมูลไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ทีมป้องกันควบคุมโรคเคลื่อนที่เร็ว หรือ เอสอาร์อาร์ที ลงไปควบคุมโรคในพื้นที่ได้เร็วขึ้น

          สำหรับการควบคุมโรคที่ระดับอำเภอถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ได้เน้นย้ำให้ความสำคัญกับเรื่องสภาพแวดล้อมของบ้านเรือน โดยเฉพาะขยะตามบริเวณบ้าน ทั้งในชนบทและในเมือง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายได้ เนื่องจากขณะนี้ฝนตกค่อนข้างมาก ให้ดำเนินการควบคุมแหล่งลูกน้ำยุงลายตามมาตรการ 5 ป. 1 ข. และการพ่นฆ่ายุงตัวแก่ ซึ่งหลายจังหวัดใช้ยากันยุงแบบสเปรย์เป็นรายครัวเรือน โดยการฆ่ายุงลายตัวแก่จะต้องทำในพื้นที่ปิด  ปิดประตู หน้าต่าง รวมทั้งประสานการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการกำจัดยุงตัวแก่ โดยการพ่นหมอกควันให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ  นอกจากนี้ ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประสานข้อมูลผู้ป่วยไข้เลือดออกที่ไปรับการรักษาที่คลินิกและโรงพยาบาลเอกชน เพื่อให้ควบคุมป้องกันโรคได้ครอบคลุมทุกจุด และเตรียมการเรื่องธนาคารเลือด ในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง

              ผู้ป่วยไข้เลือดออกที่พบในปีนี้มีทั้งเด็กและพบในผู้ใหญ่มากขึ้น ได้กำชับโรงพยาบาลทุกแห่ง ให้ตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยให้เร็ว หากมีอาการไข้สูงติดต่อกัน  2 วัน กินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดลง หน้าแดง ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ขอให้นึกถึงโรคนี้ เพราะขณะนี้เป็นฤดูกาลระบาดของไข้เลือดออก ให้รีบไปพบแพทย์ เพราะหากปล่อยไว้จะเข้าสู่ภาวะไข้เลือดออกช็อค ซึ่งอาจเสียชีวิตได้ โดยเฉพะในผู้ใหญ่ส่วนใหญ่มักจะไม่คิดว่าตัวเองเป็นไข้เลือดออก จะซื้อยาลดไข้มากินเอง มาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเมื่อป่วยแล้ว 3 - 4 วัน ทำให้แพทย์ไม่สามารถรักษาชีวิตได้ทัน

********************************* 13 มิถุนายน 2556

 



   
   


View 16    13/06/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ