รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งสำรองเซรุ่มแก้พิษงู 7 ชนิด เช่นงูเห่า งูกะปะ ให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง เพื่อป้องกันการเสียชีวิตจากถูกงูพิษกัด พร้อมกำชับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่น้ำท่วมจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการประชาชนต่อเนื่อง ขณะนี้พบผู้ป่วยกว่า 500 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัด
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่า ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการดูแลสุขภาพประชาชนฟรีอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ส่งเซรุ่มแก้พิษงูจำนวน 7 ชนิด ได้แก่ งูเห่า งูกะปะ งูแมวเซา งูทับสมิงคลา งูเขียวหางไหม้ เซรุ่มแก้พิษงูระบบโลหิต และเซรุ่มแก้พิษงูระบบประสาท ไปสำรองไว้ที่โรงพยาบาลในสังกัดทุกจังหวัด พร้อมให้การดูแลประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่น้ำท่วม เพื่อป้องกันการเสียชีวิตจากการถูกงูพิษดังกล่าวกัด เนื่องจากงูอาจหนีน้ำเข้ามาหลบอยู่ตามบ้านเรือนของผู้ประสบภัยได้ และสำรองไว้ที่ส่วนกลางอีก 16,200 ขวด เพื่อสนับสนุนส่วนภูมิภาคเพิ่มเติม
ด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ข้อมูลสำนักงานระบาดวิทยาพบว่ามีผู้ถูกงูพิษเข้ารับการรักษาปีละประมาณ 7,000 – 8,000 ราย โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงตุลาคมจะมีผู้ถูกงูกัดเพิ่มขึ้น ขอแนะนำประชาชนหากถูกงูกัด ในการปฐมพยาบาลผู้ถูกงูกัดให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด เคลื่อนไหวร่างกายให้น้อยที่สุดโดยเฉพาะบริเวณที่ถูกกัด เพื่อลดการดูดซึมพิษงูเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือด ใช้ไม้ดามบริเวณที่ถูกกัดและใช้ผ้ายืดหรือผ้าสะอาดพันทับให้แน่นพอประมาณ จากนั้นรีบส่งผู้ถูกงูกัดไปโรงพยาบาลใกล้ที่สุดและเร็วที่สุด
ข้อสำคัญคือห้ามกรีดแผล ดูดแผล ใช้ไฟหรือไฟฟ้าจี้แผล โปะน้ำแข็ง นำสมุนไพรมาพอกแผล ดื่มสุรา กินยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของแอสไพริน เพราะการกระทำดังกล่าวจะยิ่งทำให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มขึ้น แผลที่ถูกกัดเป็นเนื้อตาย และยังทำให้เสียเวลาในการนำส่งไปโรงพยาบาลอีกด้วย รวมทั้งไม่ควรทำการขันชะเนาะ เพราะอาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นขาดเลือดไปเลี้ยง เกิดเป็นเนื้อตายได้
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า สำหรับผลจากน้ำท่วม ขณะนี้สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งยังไม่ได้ผลกระทบใดๆ ทุกแห่งเปิดให้บริการตามปกติ ผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ที่ได้รับรายงาน 2 จังหวัดคือพังงาและสตูล ที่พังงาพบผู้ป่วยจำนวน 537 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัด ผื่นคัน ปวดเมื่อยจากการขนของหนีน้ำ ส่วนที่จังหวัดสตูลได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ธารณสุขจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่น้ำท่วม ออกเยี่ยมบ้านร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรืออสม. เพื่อดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตของประชาชนตามบ้านเรือนต่างๆ ยังไม่พบปัญหาเจ็บป่วย
ทั้งนี้ ในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยหรือเฝ้าระวังน้ำท่วม ได้ขอให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ร่วมกับอสม. ดำเนินการสำรวจประชาชนกลุ่มเสี่ยง 5 กลุ่ม ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งอาจได้รับอันตรายจากภาวะน้ำท่วมฉับพลัน ได้แก่ 1.เด็กเล็ก 2. ผู้สูงอายุ 3. ผู้พิการ 4.หญิงตั้งครรภ์ และ 5.ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่นอนพักฟื้นที่บ้านและช่วยเหลือตนเองไม่ได้ เพื่อวางแผนการให้การช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที โดยหากประชาชนทุกพื้นที่ เจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถโทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วนกู้ชีพ 1669 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
มิถุนายน ************************************ 14 มิถุนายน 2556