วันนี้ (14 มิถุนายน 2556)  นายแพทย์ประดิษฐ  สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  พร้อมด้วย นายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์อำนวย กาจีนะ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ไชยนันท์ ทยาวิวัฒน์ สาธารณสุขนิเทศเครือข่ายสุขภาพที่ 2 ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลแม่ระมาดและโรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายและรับทราบปัญหาอุปสรรคในการจัดบริการสาธารณสุขชายแดน

        นายแพทย์ประดิษฐกล่าวว่า ปัญหาของโรงพยาบาลชายแดนไม่ได้มีปัญหาเรื่องการพัฒนายกระดับโรงพยาบาล แต่มีปัญหาของผู้ที่ไม่มีสิทธิคือชาวต่างด้าวเข้ามารับการรักษามาก ซึ่งปัญหานี้ต้องแก้ไขทั้งในเชิงระบบและมีมาตรการชั่วคราว โดยแนวทางการแก้ปัญหามีดังนี้ 1.การแก้ปัญหาเชิงระบบ คือการทำให้ประเทศเพื่อนบ้านมีระบบสุขภาพที่ดี เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านยังไม่มีระบบประกันสุขภาพต้องไปสนับสนุนให้เกิดระบบขึ้น  และระหว่างรอระบบประกันสุขภาพของประเทศเพื่อนบ้านจะพัฒนาทั้งโครงสร้าง การบริหารจัดการต่างๆ รัฐบาลต้องหาแนวทางเข้าไปสนับสนุน เช่นการทำกองทุนชั่วคราวมาช่วยในเรื่องนี้ ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน โดยเป็นการเจรจาร่วมกันระหว่างรัฐบาล 

        2.ในส่วนโรงพยาบาลที่อยู่ตามแนวชายแดน ต้องมีการบริหารจัดการเรื่องต่างๆให้โรงพยาบาลเหล่านี้มากขึ้น ทั้งการให้งบประมาณอุดหนุนช่วยให้โรงพยาบาลเกิดสภาพคล่องมากขึ้น โดยในปีงบประมาณ 2556 จัดสรรงบ 310 ล้านบาทให้แก่โรงพยาบาลชายแดนทั้งหมด  รวมทั้งการช่วยให้คนที่มารับบริการที่สมควรได้รับสิทธิมีสิทธิ จะช่วยให้ได้รับเงินงบประมาณมาสมทบมากขึ้น และ3.การกระตุ้นให้เก็บค่ารักษาพยาบาลจากคนกลุ่มนี้ แม้จะได้ไม่มาก แต่ก็ต้องพยายามทำ เพราะแต่ละปีกระทรวงสาธารณสุขใช้งบประมาณในการดูแลปีละหลายร้อยล้านบาท เฉพาะที่ จังหวัดตากก็ร้อยกว่าล้านบาท

        สำหรับจังหวัดตาก มีพื้นที่ชายแดนติดต่อประเทศพม่าใน 5 อำเภอคือ แม่สอด  แม่ระมาด  ท่าสองยาง พบพระ และอุ้มผาง มีจุดผ่านแดนที่ถูกต้องตามกฎหมาย 1 จุด คือที่สะพานมิตรภาพไทย-พม่า มีด่านตรวจคนเข้าเมืองอีก 31 จุด เป็นจุดผ่านแดนตามธรรมชาติ มีหมู่บ้านคู่ขนานของพม่า 10 หมู่บ้าน และของไทย 13 หมู่บ้าน  มีประชากรประมาณ 950,000 คน เป็นคนไทยขึ้นทะเบียนระบบประกันสุขภาพทุกสิทธิ 580,023 คน มีคนต่างชาติขึ้นทะเบียน 15,911 คน นอกจากนี้มีประชากรแฝงนอกระบบประกันสุขภาพอีกมากกว่า 3 แสนคน และยังมีอีกส่วนอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว 3 ศูนย์ ศูนย์แม่หละ อุ้มเปี้ยม และนุโพ รวม 71,789  คน  

        ในปี 2555 มีแรงงานต่างด้าวที่ซื้อบัตรประกันสุขภาพ 32,154 คน และมีงบประมาณการรักษาพยาบาลแรงงานต่างด้าว 29,388,756 บาท ในขณะที่ค่าใช้จ่ายที่ให้บริการรักษาพยาบาลแก่แรงงานต่างด้าวที่มีบัตร คิดเป็นมูลค่า 16,981,630 บาท ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีบัตรมูลค่า 112,271,953 บาท ทั้งนี้  ชาวต่างด้าวที่จังหวัดตากส่วนใหญ่ร้อยละ 80 ไม่ได้อยู่ในภาคอุตสาหกรรม ทำให้สถานบริการสาธารณสุขต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

        โดยใน 5 อำเภอชายแดนจังหวัดตากมีสถานบริการรองรับการรักษาพยาบาลประชาชนชาวไทยและต่างชาติประกอบด้วย โรงพยาบาลทั่วไป 1 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 4 แห่ง สถานบริการสาธารณสุขชุมชน 36 แห่ง หน่วยมาลาเรีย 35 แห่ง และสถานบริการที่มีเพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุขเฉพาะพื้นที่ ได้แก่ สุขศาลา 20 แห่ง โดยร่วมกับเทศบาล ตชด. และกาชาด หน่วยบริการสุขภาพ (Health Post) 8 แห่ง ร่วมกับภาคเอกชน และหน่วยตรวจมาลาเรีย (Malaria Post) 85 แห่ง ซึ่งเป็นกลยุทธ์ เขื่อนคัดกรองบริการสุขภาพ (Tak Health Dam) โดยการเพิ่มสถานบริการที่มีเพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุขเฉพาะพื้นที่ และเพิ่มคนทำงานในระบบสาธารณสุขพื้นฐาน เช่น การฝึกอบรมพนักงานสุขภาพชุมชนต่างด้าว อสม.ต่างด้าว เป็นต้น การจัดหน่วยพยาบาลเคลื่อนที่ และกระจายบุคลากรให้เต็มพื้นที่เป้าหมาย รวมทั้งจัดทำหมู่บ้านคู่ขนานไทย-พม่า เครือข่ายความร่วมมือระหว่าง ไทย – พม่า เครือข่ายร่วมมือกับเอ็นจีโอในพื้นที่ 

        สำหรับโรคที่เป็นปัญหาสำคัญ 5 อันดับคือ วัณโรค โรคเอดส์ โรคติดต่อทางเดินหายใจ และโรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ นอกจากนี้ยังพบโรคมาลาเรีย ไข้เลือดออก โรคอุจจาระร่วงอย่างแรง หัด สุกใส สำหรับโรคที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ อุจจาระร่วง ไข้ไม่ทราบสาเหตุ ปอดบวม อาหารเป็นพิษ สครับไทฟัส  และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

       ************************************       14 มิถุนายน 2556

 



   
   


View 21    14/06/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ