“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 136 View
- อ่านต่อ
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีข้าวที่มีข่าวเรื่องรมควัน มีสารกำจัดแมลงเกินค่ามาตรฐานว่า เพื่อความมั่นใจของประชาชน ในวันนี้ได้สั่งการให้เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย. และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ส่งเจ้าหน้าที่สุ่มเก็บตัวอย่างข้าวที่บรรจุสำเร็จที่จำหน่ายในตลาด จำนวน 54 ตัวอย่าง เพื่อนำไปตรวจสอบคุณภาพ ทั้งปัญหาด้านความชื้น สิ่งสกปรกเจือปน หรือสารเคมีที่ใช้ในการอบฆ่าแมลง ฆ่าตัวมอดต่างๆ ว่ามีสารตกค้างเหลืออยู่หรือไม่ คาดว่าจะพยายามตรวจให้เสร็จภายในวันศุกร์นี้ และจะแถลงผลการตรวจต่อไป โดยจะมีการสุ่มตรวจไปเรื่อยๆ เพื่อเป็นมาตรการการเฝ้าระวังในข้าวสารสำเร็จรูป ส่วนข้าวที่อยู่ในโรงสี เป็นเรื่องของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯที่จะเข้าไปดูแล และอาจจะแถลงข่าวร่วมกันว่ามาตรการตั้งแต่ต้นน้ำปลายน้ำเป็นอย่างไร
“อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าทุกอย่างที่นำมาจำหน่ายในตลาด ว่ามีการตรวจสอบอยู่แล้ว แต่จำเป็นต้องมีการพัฒนามาตรการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันสถานการณ์ เนื่องจากในอดีตยังไม่มีกฎระเบียบ ควบคุมอาหารบางอย่าง ต่อมาในสมัยอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่ผ่านมา มีนโยบายที่จะทำไพรมารี จีเอ็มพี เชิญชวนให้ผู้ผลิตเข้ามาสู่มาตรฐาน ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมสามารถเข้าร่วมโครงการและให้อย.ให้การรับรองได้ โดยให้ระยะเวลาในการเปลี่ยนแปลง 3 ปี และจะเป็นมาตรการบังคับใช้ในปี 2558” นายแพทย์ประดิษฐกล่าว
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า ขณะนี้ ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการเรื่องความปลอดภัยอาหาร โดยเย็นวันนี้ (24 มิถุนายน 2556) ก็จะมีการหารือร่วมกันระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้องเช่น กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ เกี่ยวกับการสร้างมาตรฐานการผลิตอาหารต่างๆ ในประเทศไทย ให้เป็นมาตรฐานเท่าเทียมกับอาหารส่งออกและมีคุณภาพ มีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยเฉพาะประเด็น “การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับมาตรฐานอาหารทุกระดับ ตอบโจทย์นโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก” ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะดูแลคุ้มครองตั้งแต่วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตหรือที่นำเข้ามา กระทรวงอุตสาหกรรมดูแลมาตรฐานการผลิตในระดับอุตสาหกรรม ส่วนอย.จะตรวจสอบรักษามาตรฐานการผลิตอาหารสำเร็จรูปเชื่อว่าถ้าดำเนินการเช่นนี้ได้ จะเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคภายในประเทศที่เป็นระเบียบออกมาชัดเจน นอกจากนี้ยังเป็นการสนับสนุนนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกในเรื่องการส่งออกด้วย
ทั้งนี้ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้มีข้อกำหนดให้สถานที่ผลิตข้าวสารที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่ายต่อผู้บริโภค ต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข(ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2555 ว่าด้วยเรื่องวิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย (Primary GMP) ยกเว้นข้าวสารที่จำหน่ายให้กับผู้ผลิตอาหารไม่ต้องปฏิบัติตามประกาศฯ ฉบับนี้ ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 7 พฤศจิกายน 2555 สำหรับผู้ประกอบการรายเก่ามีผลบังคับใช้ 7 พฤศจิกายน 2558 และการแสดงฉลากข้าวสารที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่ายต่อผู้บริโภค ต้องปฏิบัติประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 194) พ.ศ. 2543 เรื่อง ฉลาก และ (ฉบับที่ 252) พ.ศ. 2544 และ (ฉบับที่ 343) พ.ศ. 2555 เพื่อยกระดับข้าวสารบรรจุถุงสำเร็จที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดให้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ
******************************** 24 มิถุนายน 2556