“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 136 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ เตรียมใช้โซเซียลมีเดีย แก้ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นและวัยแรงงาน มีบริการถามตอบปัญหาทางอินเตอร์เน็ต เพิ่มคลินิกบริการรูปแบบใหม่ทันสมัย ให้บริการเป็นกันเองครบครันทั้งความรู้ เสริมสวย และอินเตอร์เน็ต ให้คณะอนุกรรมการจัดทำร่างแผนปฏิบัติให้เสร็จภายใน 60 วัน
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติครั้งที่ 2 ประจำปี 2556 ที่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อเช้าวันนี้(26 มิถุนายน 2556 ) ว่า ที่ประชุมวันนี้ได้หารือ 2 ประเด็นหลักคือ 1.อัตราการเกิดของคนไทยน้อยลง และ2.ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยที่ประชุมได้ให้ความสำคัญของปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอยู่ในอันดับ 1 และได้มอบให้คณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการแก้ไขตามกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่มได้แก่ 1. เยาวชนที่อยู่ในระบบการศึกษา 2.ผู้หญิงที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรม ปัญหาที่พบในขณะนี้มี 3 เรื่องหลักประการแรกได้แก่ เรื่องทัศนคติประชาชนยังมองว่าการคุมกำเนิดเป็นการส่งเสริมการมีเพศสัมพันธ์ ประการที่ 2.คือเรื่องการเข้าถึงบริการบริการคุมกำเนิดของวัยรุ่นยังไม่ดี และประการที่3.วัยรุ่นยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการคุมกำเนิด
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า ในการแก้ปัญหาดังกล่าว จะเน้น 3 กลยุทธ์หลักได้แก่ 1.การประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลความรู้แยกเป็นรายกลุ่ม โดยในกลุ่มเยาวชนที่อยู่ในระบบการศึกษา จะให้ความรู้ในเรื่องของผลเสียการมีเพศสัมพันธ์ขณะที่ไม่พร้อม แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดจะต้องสร้างความเข้าใจกับผู้ใหญ่หรือครูว่า การมีเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่นในยุคนี้คงห้ามไม่ได้ แต่จะต้องให้คำแนะนำในการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย และเข้าถึงวิธีการคุมกำเนิด เช่น ถุงยางอนามัย ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานบรรลุความสำเร็จดีขึ้น รวมทั้งการใช้ชื่อการอบรมให้ความรู้เยาวชนในการใช้อุปกรณ์คุมกำเนิด เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดว่า เป็นการสอนหรือส่งเสริมให้วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น
กลยุทธ์ที่ 2.คือการใช้โซเชียลมีเดียซึ่งเป็นกลยุทธ์ใหม่ ช่วยให้วัยรุ่นเข้าถึงบริการได้ทุกเรื่อง โดยใช้อินเตอร์เน็ตเข้ามาช่วย ทั้งการให้คำปรึกษาเนื่องจากวัยรุ่นไม่กล้าที่จะมาพบเจ้าหน้าที่ที่ให้คำปรึกษาตามโรงพยาบาลหรือสถานบริการต่างๆ แต่หากเป็นการถามตอบทางอินเตอร์เน็ตจะทำให้วัยรุ่นกล้าใช้บริการมากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องเผชิญหน้ากับใคร มีความเป็นส่วนตัว รวมทั้งอาจมีบริการแจกฟรี หรือซื้อขายถุงยางอนามัยผ่านทางอินเตอร์เน็ต กลยุทธ์ที่ 3.คือขยายคลินิกบริการวัยรุ่นและสตรีวัยแรงงานในภาคอุตสาหกรรม โดยสถานบริการอยู่นอกโรงพยาบาล และอาจตั้งชื่อแบบเก๋ๆโดนใจวัยรุ่น แทนการเปิดบริการแบบเดิมๆ และให้บริการหลากหลายตามสไตล์ของวัยรุ่น เช่น มีอินเตอร์เน็ต มีบริการเสริมสวย ที่จะมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษาวัยรุ่นทุกเรื่องแบบเป็นกันเอง โดยอาจจะดึงตัวแทนผู้ที่ดำเนินการเรื่องนี้เข้ามาร่วมด้วยเช่น กองทุนพัฒนาสตรีจังหวัด กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมฯ และองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์หรือเอ็นจีโอ รวมทั้งดึงวัยรุ่นและกลุ่มสตรีที่ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรม ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบการจัดบริการให้ตรงกับปัญหาและความต้องการที่แท้จริง ทั้งหมดนี้ที่ประชุมได้มอบให้คณะอนุกรรมการจัดทำร่างแผนปฏิบัติการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน และนำเสนอในที่ประชุมครั้งต่อไป
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อไปว่า สำหรับแหล่งงบประมาณที่จะใช้ในการดำเนินการดังกล่าวในเบื้องต้นจะมาจาก 2 แหล่ง ได้แก่ งบจากสปสช.ในหมวดของการส่งเสริมสุขภาพ และ2. จากสสส.ในด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติ และสร้างความเข้าใจเรื่องการคุมกำเนิดในเยาวชน ทั้งนี้ ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติจำนวน 3 ชุด ได้แก่ 1.ชุดคณะอนุกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์ มีผู้แทนหน่วยงานต่างๆจำนวน 32 คน มีอธิบดีกรมอนามัยเป็นประธาน มีหน้าที่กำหนดแนวทางวิธีการการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์ และติดตามประเมินผลการพัฒนางานอนามัยการเจริญพันธุ์ 2.ชุดคณะอนุกรรมการพัฒนาระเบียบและกฎหมายด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ มีทั้งหมด 27 คน มีนายวัชรินทร์ ปัจเจกวิญญูสกุล เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ พัฒนากฎระเบียบเพื่อการจัดบริการและรับบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและวิถีชีวิต 3.ชุดคณะอนุกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์ระดับจังหวัด และของกทม. โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่ากทม. เป็นประธาน มีหน้าที่จัดทำแผนบูรณาการงานอนามัยเจริญพันธุ์ของจังหวัด เป็นไปตามนโยบายยุทธศาสตร์และธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ
********************************************** 26 มิถุนายน 2556