“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 138 View
- อ่านต่อ
วันนี้ ( 27 มิถุนายน 2556 ) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมปรึกษาหารือระดับนโยบายจาก 8 กระทรวง ประกอบด้วย นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กรมการบินพลเรือน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และโรงพยาบาลตำรวจ เพื่อร่วมกันจัดระบบประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าวในประเทศไทย รองรับมติคณะรัฐมนตรี
นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่15 มกราคม 2556 อนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการให้การดูแลทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่คนต่างด้าวที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งขณะนี้มี 3 กลุ่มคือ 1.กลุ่มแรงงานต่างด้าว ที่มาทำงานทั้งถูกกฎหมายและไม่มีใบอนุญาตทำงาน 2.กลุ่มประชากรต่างด้าวที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนไทยที่มีพรมแดนติด 4 ประเทศ 3.กลุ่มคนต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศไทยเป็นครั้งคราว เช่น นักท่องเที่ยว เพื่อให้ประชาชนคนไทยและคนต่างด้าวทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพพื้นฐานดูแล โดยหลักการและแนวคิดในการจัดระบบหลักประกันสุขภาพให้คนต่างด้าว มี 4 ประการคือ หลักสิทธิมนุษยชน หลักความยั่งยืนทางการคลัง หลักการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ และหลักประสิทธิภาพ
นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวต่อว่า คนต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศไทยมีทั้งหมด 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทย รวมทั้งกลุ่มอื่นๆ ที่ต้องใช้วีซ่าในการเข้าเมืองเข้ามาเรียนหรือเข้ามาทำงานระยะยาว ได้มีการหารือกันถึงปัญหากรณีที่นักท่องเที่ยวที่ต้องมาใช้บริการในกรณีที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งใช้เงินค่อนข้างมากและเป็นภาระของประเทศ ซึ่งที่ประชุมได้หารือกันอย่างกว้างขวางเรื่องวิธีการเก็บเงิน ข้อดีข้อเสีย และได้เสนอวิธีที่เก็บเงินรวมอยู่ในค่าเดินทางเข้ามา เช่น ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่ารถ ค่ารถไฟ จากสถิติของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง วิธีนี้จะครอบคลุมได้อย่างน้อยร้อยละ 80 ของผู้ที่เข้ามา ส่วนที่อาจหลุดรอดได้ เช่น นั่งรถเข้ามาเองหรือเดินเท้ามานั้นจะหามาตรการจัดการอื่นๆ ต่อไป โดยจะตั้งคณะทำงานกลุ่มย่อยขึ้นมา ประกอบด้วย กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง เพื่อศึกษาวิธีการเก็บเงินโดยละเอียด ในเรื่องของค่าโดยสารและการนำส่งเข้าส่วนกลาง โดยเงินส่วนที่เก็บมานั้น อาจจะเรียกเป็นค่าธรรมเนียมการเข้าประเทศ ( Landing Free ) จะไม่ใช้คำว่า ค่าภาษีสุขภาพ เพราะอาจทำให้มีผลต่อการท่องเที่ยวได้
กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศ ซึ่งมีจำนวนหลายล้านคนในขณะนี้ กลุ่มนี้หากไม่ให้การดูแลด้านสุขภาพ ก็จะเกิดปัญหาติดตามมาเช่น โรคระบาดต่างๆ โดยแยกเป็นกลุ่มที่เข้ามาทำงาน เข้าเมืองถูกต้องตามกฎหมาย ข้อกังวลคือขอให้มีการตรวจสุขภาพจากหน่วยงานราชการเท่านั้น ยกเว้นที่หน่วยราชการเองไม่สามารถให้บริการได้ เพราะคำนึงถึงคุณภาพของคนที่เข้ามาทำงาน และอีกอย่างหนึ่งคือขาดมาตรการส่งเสริมสุขภาพ เช่น วัคซีนป้องกันโรคซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่ได้รับมา รวมทั้งกลุ่มผู้ที่ติดตามเข้ามาด้วย โดยที่ประชุมมีข้อสรุปว่า
ทั้ง 2 กลุ่มนี้ต้องมีการทบทวนกระบวนการของการออกใบอนุญาตทำงาน วีซ่า ต้องมีขั้นตอนเพิ่มขึ้นคือต้องมีใบผ่านการตรวจสุขภาพ และหลักฐานการมีหลักประกันสุขภาพในกรณีที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม โดยจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาขั้นตอน ประกอบด้วย กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง กระทรวงท่องเที่ยวฯ กระทรวงแรงงาน เพื่อดูว่าขั้นตอนนี้จะเก็บอย่างไร เช่น ขั้นตอนจะขอวีซ่าต้องมีใบตรวจคนเข้าเมือง ต้องมีหลักฐานการมีหลักประกันสุขภาพซึ่งจะต้องจัดทำขั้นตอนในรายละเอียด
ส่วนกลุ่มคนต่างด้าวที่เข้ามาแบบผิดกฎหมาย ลักลอบเข้ามาทำงาน เป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขต้องรับภาระคนกลุ่มนี้ ได้ขอความร่วมมือทุกภาคส่วน กระตุ้นให้เข้ามาซื้อบัตรประกันสุขภาพ เพราะถ้าหลงเหลือจะเป็นภาระ ทั้งการรักษาฟรีและแพร่โรค เนื่องจากเป็นกลุ่มที่สถานะไม่ถูกต้อง เป็นภาระของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องเข้าไปดูแล ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาก็คือจัดให้มีระบบประกันสุขภาพตามมติคณะรัฐมนตรี
กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มที่ข้ามพรมแดนเข้ามาใช้บริการ เข้าเมืองมา โดยการเดินมาทางตามแนวชายแดน การแก้ปัญหาน่าจะเป็นมาตรการของกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงสาธารณสุข ที่เจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อทำความตกลงในเรื่องการดูแลในระยะสั้น เช่น มีกองทุนสุขภาพเข้ามาดูแล ส่วนระยะยาวว่าจะมีการพัฒนาหน่วยบริการสุขภาพ ที่จะพัฒนาโดยมีหลักประกันสุขภาพในประเทศนั้นๆ ซึ่งน่าจะเป็นหน้าที่ของ 2 หน่วยงานคือ กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงสาธารณสุขไทย กับประเทศต่าง ๆ เหล่านั้น สำหรับกรณีของกลุ่มอื่นๆ จะมีการกำหนดขั้นตอน เช่น วีซ่านักเรียนเข้ามาเรียนหนังสือในไทยเป็นเวลา 2-3 ปี ต้องมีใบซื้อประกันสุขภาพเช่นเดียวกับคนเข้ามาทำงาน การเรียกเก็บในนักท่องเที่ยวที่ได้รับการยกเว้นเรื่องวีซ่า เช่น รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น รวมทั้งกลุ่มอียู ที่ขอร้องประเทศไทยว่าน่าจะมีระบบการบังคับทำประกันภัยแบบครอบคลุม (Cover Well Insurance) เนื่องจากบางประเทศมีปัญหาในการดูแลค่าใช้จ่ายคนของประเทศนั้นๆ ที่เข้ามาเจ็บป่วยในประเทศไทย รวมทั้งการส่งกลับด้วย
*************************** 27 มิถุนายน 2556