“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 136 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เตรียมจัดรณรงค์กำจัดยุงลายป้องกันไข้เลือดออกครั้งใหญ่พร้อมกัน 76 จังหวัด ในวันที่ 10 – 17 กรกฎาคมนี้ เพื่อลดจำนวนยุงและลดจำนวนผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด เนื่องจากเป็นเดือนที่จะมีผู้ป่วยสูงที่สุด โดยระดมพลังอสม.กว่า 1 ล้านคนทุกหมู่บ้าน ทำลายลูกน้ำในแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกหลังคาเรือน โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก วัด และศาสนสถาน ทั้งในเขตเมืองและชนบท และให้ความรู้โรคไข้เลือดออก ทั้งอาการป่วย และการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน เนื่องจากผู้ป่วยไข้เลือดออก 2 ใน 3 อาการจะไม่รุนแรงและหายได้เอง จึงให้สังเกตอาการผิดปกติที่ชี้บ่งว่าจะรุนแรงถึงกับชีวิต ซึ่งมักเกิดในวันที่ 3 หรือ 4 โดยหากมีอาการใดอาการหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้รีบกลับไปพบแพทย์ได้แก่ ซึมลง อ่อนเพลียมาก ทานอาหารไม่ได้ ปวดท้องมาก มีเลือดออก ไม่ว่าจะเป็นเลือดกำเดา อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายเป็นสีดำเนื่องจากมีเลือดออกในทางเดินอาหาร เพราะอาจเข้าสู่ภาวะช็อค เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์มาตรการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก ว่า ในวันที่ 10 – 17 กรกฎาคม 2556 นี้ กระทรวงสาธารณสุข จะจัดรณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออกครั้งใหญ่พร้อมกันทั่วประเทศ โดยจะใช้พลังอาสาสมัครสาธารณสุข หรืออสม.กว่า 1 ล้านคน เป็นแกนนำในการกำจัดยุงและลูกน้ำในบ้านทุกหลังคาเรือน โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก วัดและศาสนสถาน ทุกพื้นที่ทั้งในเขตเมืองและชนบท และให้ความรู้โรคไข้เลือดออก ทั้งอาการป่วย และการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน เนื่องจากผู้ป่วยไข้เลือดออกที่มีอาการรุนแรง จำเป็นต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลมีเพียง 1 ใน 3 อีก 2 ใน 3 อาการจะไม่รุนแรง และจะหายได้เอง สามารถพักรักษาตัวที่บ้านได้เช่นเดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งในระยะที่ผ่านมา อสม.ได้ดำเนินการทำลายลูกน้ำยุงร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และประชาชนมาโดยตลอด แต่ในเดือนนี้เป็นช่วงฤดูกาลระบาดจะมีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุด จึงต้องเพิ่มพลังในการกำจัดยุงพร้อมกันทุกพื้นที่ ตัดวงจรแพร่ระบาดให้เร็วที่สุดและมากที่สุด
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขเพิ่มความเข้มงวดติดตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก ซึ่งมีการประชุมทุกสัปดาห์เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาให้ได้อย่างตรงจุด พบว่ายังต้องเร่งรัดให้ทุกจังหวัดเข้มข้น 3 มาตรการหลักได้แก่ 1.การขจัดยุงตัวเต็มวัยและลูกน้ำ เพื่อลดจำนวนยุงลายที่เป็นตัวการแพร่เชื้อไข้เลือดออก เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด 2.ให้ส่งหน่วยสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่ ที่พบผู้ป่วยเพื่อควบคุมไม่ให้โรคแพร่ระบาด ไม่ให้มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มในพื้นที่เดิม และ3.ให้โรงพยาบาลทุกแห่งจัดจุดตรวจคัดกรองผู้ป่วยไข้เลือดออกตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข แจกยาทากันยุง และให้ความรู้แก่ผู้ปกครองในการดูแลผู้ป่วยไข้เลือดออกอย่างถูกต้องเพื่อลดการเสียชีวิต ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่ม 5,276 ราย เสียชีวิต 6 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่น นักเรียน อายุ 10 - 24 ปี พบปัญหามากใน 173 อำเภอ มากที่สุดในแถบภาคเหนือ ส่วนจังหวัดที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 10 อันดับแรก ได้แก่ เชียงราย ศรีสะเกษ เพชรบูรณ์ ลำปาง นครพนม สงขลา นครราชสีมา เลย ชุมพร และตราด
ด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าโรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัส ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ จะรักษาเพื่อประคับประคองอาการให้ร่างกายฟื้นตัว พ้นระยะอันตรายในช่วงสัปดาห์แรก ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยมีไข้สูงต่อเนื่อง 2 วัน กินยาหรือเช็ดตัวแล้วไข้ไม่ลด ให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจวินิจฉัย หากมีอาการรุนแรงแพทย์จะรับไว้รักษาในโรงพยาบาล หากไม่รุนแรงแพทย์อาจจะไม่ได้รับตัวนอนรักษาในโรงพยาบาล เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ประมาณร้อยละ 70 จะหายได้เอง โดยแพทย์จะให้คำแนะนำวิธีการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน และการสังเกตอาการผิดปกติที่ต้องรีบกลับมาพบแพทย์ทันทีได้แก่ ผู้ป่วยซึมลง อ่อนเพลียมาก ปวดท้อง กินอาหารและดื่มน้ำได้น้อย อาเจียน หรือพบว่ามีเลือดออกเช่น เลือดกำเดา เลือดออกตามไรฟัน ประจำเดือนมากผิดปกติ หรือถ่ายเป็นสีดำ ซึ่งมักเกิดในวันที่ 3 หรือวันที่ 4 หากมีอาการใดอาการหนึ่งที่กล่าวมา ถือว่าเป็นสัญญาณอันตราย ที่ผู้ป่วยจะเริ่มเข้าสู่ภาวะช็อค เนื่องจากมีเลือดออกในอวัยวะภายใน ซึ่งมักจะเกิดในระยะหลังไข้ลง หากไดัรับการรักษาช้าอาจเสียชีวิตได้ภายใน 24 ชั่วโมง ทั้งนี้หากหลังไข้ลดแล้ว ผู้ป่วยมีอาการยิ้มแย้มแจ่มใส พูดคุย กินอาหารได้มากขึ้น แสดงว่าอาการดีขึ้นเริ่มฟื้นตัว และจะหายเป็นปกติ
สำหรับการดูแลผู้ป่วยในระยะ 1-2 วันแรกที่มีไข้สูง ขอให้เช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดา กินยาพาราเซตามอล ยาที่ห้ามกินเด็ดขาดคือแอสไพริน และไอโบรบรูเฟน เพราะจะกัดกระเพาะอาหาร ทำให้เลือดออกง่ายขึ้น โดยให้ผู้ป่วยกินอาหารอ่อน เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก และห้ามกินน้ำหรือผลไม้ที่มีสีแดง เช่น น้ำแดง แตงโม เนื่องจากจะทำให้แยกอาการเลือดออกในกระเพาะและลำไส้ได้ยากขึ้น
********************************* 7 กรกฎาคม 2556