รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดกิจกรรมโครงการ “รวมพลัง อสม.ขจัดภัยร้าย กำจัดยุงลาย พิชิตไข้เลือดออก”ทุกพื้นที่พร้อมกันทั่วประเทศตลอดวันที่ 10-16 กรกฎาคม 2556 ควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออก เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยและลดการเสียชีวิตให้ได้ เนื่องจากผู้ป่วยขณะนี้สูงกว่าปีที่แล้ว 3 เท่าตัว ชี้ให้เห็นว่ามียุงลายในบ้าน ชุมชนชุกชุมมาก เป็นช่วงที่พบผู้ป่วยสูงที่สุด ย้ำหากคนในครอบครัวหากไข้สูงแล้วไม่ค่อยลง ไข้สูงลอยในระยะ 48 ชั่วโมง ไม่ไอ ให้พบแพทย์รีบหาสาเหตุและได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง

             เช้าวันนี้ (10 กรกฎาคม 2556) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์ควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก ในโครงการ “รวมพลัง อสม.ขจัดภัยร้าย กำจัดยุงลาย พิชิตไข้เลือดออก” วันที่ 10-16 กรกฎาคม 2556 พร้อมกันทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อสร้างความร่วมมือกำจัดยุงลาย ตัวการแพร่ระบาดไข้เลือดออกตามนโยบายรัฐบาล มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 750 คน โดยมอบธงรณรงค์พร้อมกระเช้าสื่อประชาสัมพันธ์การควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก และสมุนไพรกันยุงแก่ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้ง อสม.ทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ภาคีต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเครือข่ายบริการสุขภาพทั้ง 12 เขต รับมอบชุดอุปกรณ์กำจัดยุงตัวแก่เช่น สเปรย์พ่นฆ่ายุง และตะไคร้หอม ยาทากันยุง เพื่อมอบต่อให้แก่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ทุกจังหวัดในเขตจังหวัดรับผิดชอบ จากนั้นปล่อยขบวนรถคาราวานรณรงค์ควบคุมป้องกันไข้เลือดออก 6 ขบวนไปยังพื้นที่ต่างๆในอ.เมือง จ.นนทบุรี ได้แก่ ที่วัดตำหนักใต้ ตำบลท่าทราย ตลาดพระราม 5 วัดชลอ บริเวณท่าเรือท่าน้ำนนทบุรี ตลาดปากเกร็ด และตลาดประชานิเวศน์ 3 เพื่อให้ความรู้ ให้คำแนะนำรวมทั้งแจกเอกสารเกี่ยวกับไข้เลือดออกให้แก่ประชาชน แจกสมุนไพรตะไคร้หอม และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบอาการหรือสัญญาณอันตรายของไข้เลือดออกได้แก่ ไข้สูงเกิน 2 วัน ปวดท้อง อาเจียน ซึมลง ถ้ามีอาการใดอาการหนึ่งให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน และร่วมกันเฝ้าระวังดูแลคนในบ้านที่มีไข้ในช่วงวิกฤต ตลอดจนร่วมกันลุกขึ้นมาทำการกำจัดลูกน้ำ ด้วยมาตรการ 5ป 1ข

            นายแพทย์ประดิษฐกล่าวว่า ขณะนี้ไทยอยู่ในช่วงฤดูกาลระบาดของโรคไข้เลือดออก โดยเดือนนี้เป็นช่วงที่จะพบผู้ป่วยสูงที่สุดกว่าทุกๆเดือน และจะมียุงลายเกิดขึ้นจำนวนมากเนื่องจากฝนตก และมีแหล่งน้ำวางไข่มาก ข้อมูลล่าสุดทั่วประเทศมีผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมในรอบ 6 เดือนตั้งแต่ 1 มกราคม – 2 กรกฎาคม 2556 รวม 59,318 ราย คิดเป็นอัตราการป่วย 92.57 คนต่อประชากร 1 แสนคน เสียชีวิต 68 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.11 ของผู้ป่วยทั้งหมด จำนวนผู้ป่วยสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2555 ร้อยละ 219 หรือประมาณ 3 เท่าตัว กลุ่มอายุที่ป่วยและเสียชีวิตสูงสุดคือกลุ่มอายุ 15-24 ปี ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน หากประชาชนและภาครัฐ ไม่ร่วมมือกันกำจัดยุงลาย ปล่อยให้ยุงแพร่พันธุ์เรื่อยๆ ความเสี่ยงถูกยุงกัดและการป่วยจะมีสูงขึ้น จำนวนผู้ป่วยอาจเพิ่มสูงถึง 120,000 – 150,000 ราย ผู้เสียชีวิตอาจมีถึง 140 – 200 ราย จะสูญเสียค่าใช้จ่ายรักษาผู้ป่วยสูงถึง 2,000 ล้านบาท

           นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า การควบคุมแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออกให้ได้ผลดีที่สุด ต้องใช้ 2 มาตรการควบคู่กันคือ 1.การดูแลรักษาผู้ป่วย ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดจุดตรวจคัดกรอง รักษาผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเป็นการเฉพาะในโรงพยาบาลทุกแห่ง และ2.การลดจำนวนยุงลาย ตัวการแพร่เชื้อโรคไข้เลือดออก เพื่อลดจำนวนผู้ป่วย ซึ่งได้ผลดีมากหากทำจริงจังต่อเนื่องทุกๆ 7 วัน โดยตลอดช่วงวันที่ 10 -16 กรกฎาคม 2556 นี้จะเน้นกิจกรรมรณรงค์ โดยให้อสม. ภาคีเครือข่ายเช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำในชุมชน ครู นักเรียน และประชาชน ร่วมมือกันทำ 5ป 1ข พร้อมกันทั่วประเทศ ได้แก่ ปิดฝาภาชนะกักเก็บน้ำทุกชนิด เปลี่ยนน้ำทุกๆ 7 วัน ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะกักเก็บน้ำ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ปฏิบัติเป็นประจำให้เป็นนิสัย และ 1ข คือ ขัดภาชนะที่อาจมีคราบไข่ยุงเกาะอยู่ และให้ความรู้ คำแนะนำประชาชนในการการป้องกันไม่ให้ยุงกัดด้วยการนอนในมุ้งและทายากันยุง และการค้นหาผู้ป่วย หากมีไข้สูง ไม่ไอ กินยาแล้วไข้ไม่ลดลงภายใน 1-2 วัน ให้นึกถึงไข้เลือดออกไว้ก่อนและให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพราะหากผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออกและได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆอย่างถูกต้อง จะลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้

              ทั้งนี้ เป้าหมายการรณรงค์คือความต่อเนื่องของประชาชน อสม.และมีพื้นที่เป้าหมายการทำงานที่ชัดเจนครอบคลุมตามแผนปฏิบัติการ โดยในวันแรกวันนี้ อสม.และภาคีเครือข่ายจะลงพื้นที่รณรงค์ 5ป 1ข ที่โรงเรียน วันที่ 2 ที่วัด วันที่ 3 ที่ศูนย์เด็กเล็กหรือสถานที่สาธารณะ 1 แห่ง วันที่ 4 ในครัวเรือน วันที่ 5 รณรงค์รอบๆชุมชน วันที่ 6 และวันที่ 7 อสม.และแกนนำเครือข่ายจะติดตามตรวจดูจำนวนลูกน้ำตามภาชนะแหล่งน้ำขังต่างๆ และคัดกรองค้นหาผู้ป่วยในครัวเรือนที่รับผิดชอบ 10-15 ครัวเรือน และรวบรวมประเมินผลการปฏิบัติงานทั้งหมดส่งรายงานให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือ รพ.สต.ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2556 และหลังจากผ่านพ้นสัปดาห์รณรงค์ไปแล้ว อสม. จะสอดส่องกระตุ้นให้ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ ช่วยกันควบคุมจำนวนยุงและลูกน้ำอย่างต่อเนื่องด้วย

                                                                ******************************************** 10 กรกฎาคม 2556



   
   


View 11    10/07/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ