“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 136 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เร่งสร้างความปลอดภัยอาหารในและหน้าโรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศ ป้องกันโรคอุจจาระร่วงและโรคอาหารเป็นพิษ ดำเนินการร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในปีเริ่มประมาณ 15,000 แห่งใน 9 จังหวัด และขยายผลครบทั่วประเทศภายในปี 2559 และให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาร่วมกับประเทศอาเซียน กำหนดมาตรฐานอาหารนำเข้า–ส่งออก รองรับการเข้าสู่อาเซียน
วันนี้ (10 กรกฎาคม 2556) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการสร้างความปลอดภัยอาหารที่จำหน่าย ทั้งในและหน้าโรงเรียนทั่วประเทศ ว่า จากข้อมูลรายงานจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่าในแต่ละปีพบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง หรืออาหารเป็นพิษปีละไม่ต่ำกว่า 100,000 ราย จากการวิเคราะห์พบว่าพื้นที่ที่เกิดเหตุที่สำคัญคือที่โรงเรียน กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ช่วงอายุที่พบมากที่สุดคือ 0-4 ปี และ 5-9 ปี จึงต้องเร่งสร้างมาตรฐานความปลอดภัยอาหาร ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียน และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง หากเด็กเล็กป่วยเป็นโรคอาหารเป็นพิษ จะมีโอกาสเป็นโรคแทรกซ้อน และเสียชีวิตได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เนื่องจากการสูญเสียน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นเด็กที่มีโรคประจำตัวอยู่ด้วยจะมีความเสี่ยงการเจ็บป่วยสูงขึ้น
นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่อว่า ในการสร้างความปลอดภัยอาหาร กระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าหมายดำเนินการในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนให้ครบทุกแห่งภายใน 4 ปี คือภายในพ.ศ.2559 โดยในปีนี้จะดำเนินการนำร่องก่อนร้อยละ 30 หรือประมาณ 15,000 แห่งในพื้นที่ 9 จังหวัดได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง นครสวรรค์ นนทบุรี สมุทรปราการ อุดรธานี ขอนแก่น ภูเก็ต และสงขลา โดยร่วมกันระหว่างทีมสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทีมกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสร้างมาตรฐานต้นแบบ และขยายผลในพื้นที่อื่นต่อไปให้ครบตามเป้าต่อไป
นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่อไปว่า สำหรับการเตรียมการสร้างความปลอดภัยอาหารเพื่อรองรับอาเซียน ได้จัดทำแผนรองรับไว้แล้ว 2 ระดับ ในระดับภายในประเทศ และระดับอาเซียน โดยในระดับประเทศจะเน้นเรื่องมาตรฐานความสะอาดและความปลอดภัย ป้องกันไม่เกิดเป็นโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ทั้งมาตรฐานอาหารที่ปรุงสำเร็จ และมาตรฐานของอาหารแปรรูปต่างๆ โดยเรื่องอาหารปรุงสำเร็จกรมอนามัยเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบและจัดทำมาตรฐานร่วมกับสมาคมที่เกี่ยวข้อง เช่นสมาคมภัตตาคาร ร้านอาหาร หากเป็นอาหารแปรรูป สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรืออย. จะเป็นหน่วยงานดูแลมาตรฐาน ส่วนในระดับอาเซียนจะมีการกำหนดมาตรฐานอาหารนำเข้า -ส่งออก ร่วมกันระหว่างประเทศอาเซียน ขณะนี้ได้มีการเจรจาร่วมกัน โดยให้อย.เป็นเจ้าภาพ
******************************************** 10 กรกฎาคม 2556