วันนี้ (11 กรกฎาคม 2556) ที่จังหวัดบุรีรัมย์ นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์คำรณ ไชยศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ติดตามการดำเนินงานการพัฒนาเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั้งระบบไร้รอยต่อของจังหวัดบุรีรัมย์ (Buriram Stroke Model) โรงพยาบาลบุรีรัมย์ โรงพยาบาลลำปลายมาศ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโคกล่าม อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์

     นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนไทยอันดับที่ 3 ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2548 และมีแนวโน้มสูงขึ้น มักพบในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง กระทรวงสาธารณสุขได้ศึกษาร่วมกับองค์การอนามัยโลก พบว่าโรคนี้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และอัตราความชุกโรค คิดเป็น 1,850 ต่อประชากร 1 แสนคน และคาดว่าในปี 2563 จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุของความพิการที่คนไทยเรียกว่าโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งผู้ป่วย 2 ใน 3 มีปัญหาเรื่องการพูด อีกประมาณร้อยละ 30 ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ต้องพึ่งคนอื่นดูแลตลอดชีวิต ในปี 2553 พบทั่วประเทศมีรายงานผู้ป่วยโรคนี้เข้ารักษาในโรงพยาบาลจำนวน 17,000 ราย จัดอยู่ในประเภทผู้ป่วยฉุกเฉิน ต้องได้รับการดูแลอย่างรวดเร็วที่สุด

        ในการพัฒนาระบบบริการ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันการสูญเสียต่าง ๆ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำโครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพตามแผนแม่บท (Service Plan) พัฒนาศักยภาพบริการที่ตอบสนองต่อปัญหาสุขภาพที่สำคัญ 10 สาขา ซึ่งโรคหลอดเลือดสมองเป็น 1 ใน 10 สาขา โดยพัฒนาเป็นบริการระดับตติยภูมิเฉพาะด้าน เพื่อดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน(Stroke Fast Tract) เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551 ผลการดำเนินงานพบว่าร้อยละของการได้รับยาละลายลิ่มเลือดเพิ่มขึ้นจาก 0.38 ในปี 2551 เป็นร้อยละ 2.23 ในปี 2555 อัตราการเสียชีวิตลดลงจากร้อยละ 8.46 ในปี 2551 เป็นร้อยละ 7.53 ในปี 2555 โดยในปี 2556 นี้ ได้พัฒนาให้มีศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง (stroke Unit) ในรูปแบบเครือข่ายบริการทุกเขตบริการ ขณะนี้มีโรงพยาบาลเข้าร่วมเครือข่าย ได้แก่ ร.พ.ตรัง ร.พ.พุทธโสธร ร.พ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ร.พ.ลำพูน ร.พ.พิจิตร ร.พ.สวรรค์ประชารักษ์ ร.พ.นครพนม และ ร.พ.สุรินทร์ โดยอบรมการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ ในการดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ให้พยาบาลวิชาชีพที่อยู่ในโรงพยาบาลเครือข่ายเป็นการเฉพาะ

         สำหรับจังหวัดบุรีรัมย์ พบแนวโน้มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มมากขึ้นทุกปี ข้อมูลจากร.พ.บุรีรัมย์มีผู้ป่วยรายใหม่ที่ป่วยโรคนี้เข้ารักษาปีละประมาณ 1,800 ราย ผู้ป่วยร้อยละ 70  เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูงมาก่อน ร.พ.บุรีรัมย์ได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 9 นครราชสีมา พัฒนาเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจรไร้รอยต่อ( Buriram Stroke Model)ทั้งจังหวัด เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา โดยเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายดูแลผู้ป่วยตั้งแต่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) และร.พ.บุรีรัมย์อบรมความรู้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกระดับ ให้รู้สัญญาณโรคหลอดเลือดสมอง 3 อาการหลัก                        

        คือแขนขาอ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่ง ปากเบี้ยว พูดไม่ได้ ตามองเห็นภาพซ้อนให้รีบนำส่งโรงพยาบาลจังหวัดทันที เพื่อไห้ผู้ป่วยได้รับยาละลายลิ่มเลือดได้ทันภายใน 4.5 ชั่วโมง ซึ่งจะลดความพิการและความรุนแรงโรคลงได้ โดย ร.พ.บุรีรัมย์จัดช่องทางด่วน (Buriram Stroke Fast track network)รับผู้ป่วยโดยเฉพาะตลอด 24 ชั่วโมง จะได้รับการตรวจวินิจฉัย ได้รับยาละลายลิ่มเลือดภายใน 1 ชั่วโมงตามมาตรฐานสากล และให้การดูแลในหอผู้ป่วยวิกฤต 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นเมื่ออาการปลอดภัยจะย้ายเข้าหอผู้ป่วยสามัญ และจัดระบบส่งผู้ป่วยไปฟื้นฟูต่อที่โรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้านที่สุด หลังจากได้รับบริการช่องทางด่วน ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละไม่ถึง 1 ในปี 2554 เพิ่มเป็นร้อยละ 16.4 หรือกว่า 16 เท่าตัว หรือประมาณ ปีละ 150 ราย จากผู้ป่วยประมาณ 1,800 ราย ขณะที่ระดับการเข้าถึงยาของผู้ป่วยทั่วโลกอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 ของผู้ป่วย สามารถลดความพิการได้ร้อยละ 30

         ส่วนในกลุ่มที่ผู้ป่วยที่มีอาการแล้ว ไม่ไปพบแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันทีและเกิดความพิการ เป็นอัมพฤกษ์อัมพาตแล้ว ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่พบได้ประมาณร้อยละ 70 ของผู้ป่วย ซึ่งการรักษาด้วยยาจะไม่ได้ผล ได้เน้นจัดระบบดูแลฟื้นฟูความพิการ ลดการเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนเพราะผู้ป่วยจะช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ได้จัดระบบให้โรงพยาบาลชุมชนทั้ง 21 แห่ง เพิ่มหน่วยบริการดูแลและฟื้นฟูผู้ป่วยแห่งละ 2 เตียง จัดอบรมสหวิชาชีพ ดูแลทั้งในโรงพยาบาลและที่บ้านร่วมกับญาติ อสม.และเจ้าหน้าที่รพ.สต.ที่ผ่านการอบรมแล้ว โดยจะมีการส่งประวัติการรักษาผู้ป่วยทุกรายจาก รพ.บุรีรัมย์ให้ ร.พ.ชุมชน และ รพ.สต.ที่ดูแลต่อ เปรียบเสมือนการดูแลผู้ป่วยจากทีมเจ้าหน้าที่เดียวกัน ผลปรากฏว่า ได้ผลดี อัตราการเสียชีวิตลดลงเหลือร้อยละ 5 ต่ำกว่าระดับประเทศที่อยู่ที่ประมาณร้อยละ 7

      ในระยะยาววางแผนจะเน้นการป้องกันเกิดโรคหลอดเลือดสมองในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยให้เจ้าหน้าที่รพ.สต.ติดตามระดับความผิดปกติของระดับน้ำตาลในเลือด ระดับความดันโลหิตผู้ป่วยให้ต่อเนื่อง หากพบผิดปกติ ให้หาสาเหตุทุกราย เพื่อลดการเกิดโรคหลอดเลือดสมองลง ทั้งนี้ในการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองส่วนใหญ่จะรักษาตามอาการ ประคับประคองไม่ให้เกิดความพิการ โดยใช้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ ประการสำคัญที่สุดหากประชาชนรู้จักอาการสัญญาณเตือนโรคแต่เนิ่นๆ และพบแพทย์ได้เร็วที่สุด จะลดความพิการและตายได้ ลดภาระแก่ญาติในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งแต่ละรายหากเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตแล้วจะใช้เวลาฟื้นฟูรายละไม่ต่ำกว่า 1 ปี

************************************ 11 กรกฏาคม 2556

 



   
   


View 9    11/07/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ