กระทรวงสาธารณสุข เปิดคลินิกวัยรุ่นในโรงพยาบาลในสังกัด 834 แห่งทั่วประเทศ  ให้บริการฟรีวัยรุ่นทุกเรื่อง ทั้งความสวยความงาม – เพศ – สุขภาพ  เพื่อป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น หรือติดเชื้อโรคร้าย เช่นเอดส์  ในปี 2557 นี้จะขยายในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลด้วย   เผยสถานการณ์วัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปีขณะนี้ น่าห่วง  จำนวนการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้น จากปีละ 123,445 ราย ในปี 2548  เพิ่มเป็น  132,147 รายในปี 2553 ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตั้งครรภ์เมื่อใด   และมีผลการศึกษาพบว่าวัยรุ่นที่มีลูกก่อนอายุครบ 18 ปี  1ใน 10 เคยมีความคิดค่าตัวตายระหว่างตั้งครรภ์หรือหลังคลอด 1-2 ครั้ง

      นายแพทย์ประดิษฐ  สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 11 กรกฎาคม  ทุกปี เป็นวันประชากรโลก   เพื่อกระตุ้นเตือนให้ทุกประเทศทั่วโลกตระหนักและให้ความสำคัญต่อการพัฒนา แก้ไขปัญหาของประชากร ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกมีประชากรประมาณ 7,000 ล้านคน   โดยในปีนี้องค์การสหประชาชาติกำหนดให้ความสำคัญการแก้ไข  ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น  เนื่องจากกำลังเป็นปัญหารุนแรงขึ้น แต่ละปีทั่วโลกมีเด็กวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี คลอดบุตรประมาณ 16 ล้านคน   และมี 3 ล้านคนยุติการตั้งครรภ์โดยทำแท้งเถื่อน  พบมากในประเทศกำลังพัฒนา    วัยรุ่นหญิงทั่วโลกเข้าถึงและมีการคุมกำเนิดน้อยมากเพียงร้อยละ 22 เท่านั้น  โดยพบว่าการคลอดบุตรเป็นสาเหตุหลักการเสียชีวิตของเด็กอายุ 15-24 ปี  แสดงให้เห็นถึงการเข้าถึงบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ยังมีข้อจำกัด     จึงได้รณรงค์กระตุ้นให้ทุกประเทศเร่งแก้ไขป้องกัน

     ในส่วนของประเทศไทย  ผลสำรวจล่าสุดของมหาวิทยาลัยมหิดลในปี 2555 ไทยมีประชากร 64 ล้านกว่าคน  ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิงอายุ 15-49 ปีซึ่งเป็นวัยเจริญพันธุ์จำนวน 17 ล้านกว่าคน  แนวโน้มไทยกำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว  เนื่องจากอัตราการเจริญพันธุ์ลดลง  หญิงไทย 1 คน มีบุตรเฉลี่ยคนละ 1. 5 คน  ประการสำคัญไทยยังพบปัญหาวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี ตั้งครรภ์และมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ  ในปี 2553  มีวัยรุ่นตั้งครรภ์  132,147 ราย  เพิ่มขึ้นจากในปี 2548 ที่มีจำนวน 123,445 ราย  ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตั้งครรภ์เมื่อใด  ในปี 2554 พบว่าวัยรุ่นไทยอายุ 10-19 ปี คลอดบุตรจำนวน 131,400 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 15 คน  คิดเป็นร้อยละ 17 ของหญิงคลอดบุตรทั้งหมด สูงกว่าค่าเฉลี่ยการคลอดบุตรในวัยรุ่นระดับโลกที่มีร้อยละ 11 และมีผลการศึกษาพบว่าวัยรุ่นที่มีลูกก่อนอายุครบ 18 ปี 1ใน 10 หรือประมาณร้อยละ 12  เคยมีความคิดค่าตัวตายระหว่างตั้งครรภ์หรือหลังคลอด 1-2 ครั้ง   

   ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุข ใช้กลยุทธ์เข้าใจ เข้าถึง ช่วยเหลือกรณีท้องไม่พร้อมอย่างเป็นรูปธรรม โดยขณะนี้ได้จัดตั้งคลินิกวัยรุ่นในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชน รวมทั้งหมด 834 แห่งทั่วประเทศ เน้นให้บริการแบบเป็นมิตร  และฟรี   เป็นเสมือนเพื่อนแท้ของวัยรุ่น  สร้างความอบอุ่นใจแก่ผู้รับบริการ      โดยเป็นที่ปรึกษาแก่วัยรุ่นทุกเรื่อง ทั้งความสวยความงาม – เพศ –  การให้ความรู้การดูแลสุขภาพและอนามัยเจริญพันธุ์  การคุมกำเนิด   เพื่อป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น หรือติดเชื้อโรคร้าย เช่นเอดส์     โดยคลินิกดังกล่าว จะมีการประสานเชื่อมโยงกับมุมเพื่อนใจวัยรุ่นในโรงเรียน เพื่อป้องกันปัญหายาเสพติด และศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาล     ซี่งเป็นศูนย์ช่วยเหลือกรณีผู้หญิงและเด็กถูกทำร้ายรุนแรง    ดูแลนักเรียนร่วมกันระหว่างโรงเรียนกับโรงพยาบาล   ในปี 2557 นี้จะขยายลงในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลด้วย เพื่อให้เด็กเยาวชนเข้าถึงบริการให้มากที่สุด และไม่กลับมามีปัญหาซ้ำอีก                                                                          

    นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังจัดทำโครงการอำเภออนามัยเจริญพันธุ์ เพื่อกระตุ้นการทำงานแบบบูรณาการในทุกพื้นที่ระหว่าง สถานบริการสาธารณสุข  สถานศึกษา ครอบครัว และชุมชน แก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และเยาวชน  ในปีนี้ตั้งเป้าดำเนินการร้อยละ 20   ขณะนี้มีอำเภอสมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว 210 อำเภอคิดเป็นร้อยละ 24 ของอำเภอทั้งหมด   อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการควบคู่กันคือการสร้างความเข้าใจแก่สังคม รับรู้ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรของวัยรุ่น ลงไปถึงระดับครอบครัว และ บุคคล  เพื่อมุ่งเน้นการป้องกัน ชะลอการมีเพศสัมพันธ์  หรือมีเพศสัมพันธ์โดยมีการป้องกัน  ได้มอบหมายให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพร่วมกับมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิงดำเนินการ  โดยมุ่งเน้น 3 กลุ่มเป้าหมายได้แก่ กลุ่มวัยรุ่นตอนต้น อายุต่ำกว่า 15 ปี กลุ่มวัยรุ่นตอนกลาง อายุ 15-19 ปี และกลุ่มพ่อแม่ ผู้ปกครอง เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา 

     ทางด้านนายแพทย์เจษฎา  โชคดำรงสุข อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผลสำรวจของกรมอนามัยในปี 2553  จังหวัดที่พบวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี มีอัตราการตั้งครรภ์สูง 5 อันดับแรกของประเทศ  เมื่อเทียบกับจำนวนวัยรุ่นกลุ่มอายุเดียวกันทุก 1000  คน   ได้แก่ นครนายก  อัตรา 109 คน รองลงมาคือตาก อัตรา 97 ระยอง อัตรา  87 ชลบุรี อัตรา 84 และสมุทรสาคร อัตรา  81  

    นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีภาวการณ์เปลี่ยนแปลงในด้านอนามัยเจริญพันธุ์  ทำให้โครงสร้างประชากรเปลี่ยน และเป็นสังคมของผู้สูงอายุ   อาจประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานรุนแรงต่อไปในอนาคต         ซึ่งมีสาเหตุมาจาก 7 ประการ ได้แก่ 1 .การคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพและแพร่หลายมากขึ้น  2. จำนวนเด็กเกิดลดลงและด้อยคุณภาพจากแม่ที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม  3. การลดลงของจำนวนบุตรเกิดรอดต่อสตรีสมรสในแต่ละกลุ่มอายุ  4. การมีบุตรคนแรกแนวโน้มมีในอายุมากขึ้น 5. แบบแผนการสมรสของประชากรมีแนวโน้มไปสู่การเป็นโสดเพิ่มมากขึ้น 6. สังคมไทยมีแนวโน้มครอบครัวล่มสลายเพิ่มสูงขึ้น อัตราการหย่าร้างเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ 7. แบบแผนครอบครัวเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นครอบครัวซึ่งคู่สมรสไม่มีบุตร 

   ทั้งนี้การตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมของวัยรุ่น  ก่อให้เกิดผลกระทบตามมาอย่างกว้างขวาง ทั้งต่อตัววัยรุ่น เช่น การทำแท้งไม่ปลอดภัย ซึ่งมักเกิดผลแทรกซ้อนตามมาหลายอย่าง เช่น การตกเลือด  การอักเสบติดเชื้อ มดลูกเน่า บางรายมีการติดเชื้อรุนแรง จนต้องตัดมดลูกทิ้ง เพื่อช่วยชีวิต และไม่สามารถมีลูกได้ตลอดชีวิต  การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีโอกาสคลอดก่อนกำหนด การเจ็บครรภ์ขณะคลอดนานกว่าแม่ทั่วไป  ส่วนเด็กที่เกิดจากแม่วัยรุ่น จะพบว่ามีน้ำหนักตัวน้อยกว่าแม่ทั่วไป รวมทั้งพัฒนาการด้านต่างๆ ส่งผลไปถึงครอบครัว ชุมชน สังคม เศรษฐกิจของประเทศ   

*******************************    11 กรกฎาคม 2556



   
   


View 11    11/07/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ