กระทรวงสาธารณสุข ย้ำเตือนประชาชนให้ดูแลความสะอาดสถานที่ เครื่องเล่นเด็ก ห้องน้ำ สระว่ายน้ำ โดยเฉพาะในศูนย์เด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็ก และโรงเรียนอนุบาล เพื่อป้องกันโรคมือเท้าปาก ชี้ปีนี้โรคมาเร็วกว่าปกติ 1-2 เดือน จากฝนตก อากาศเย็นชื้น แต่สถานการณ์ไม่รุนแรง รอบ 6 เดือนพบผู้ป่วยกว่า 18,000 ราย ไม่มีเสียชีวิต

        วันนี้ (12 กรกฎาคม 2556) นายแพทย์ประดิษฐ  สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์โรคมือเท้าปาก ว่า ในปี 2556 นี้ สถานการณ์การระบาดของโรคมือเท้าปาก (Hand Foot Mouth Disease) ไม่ได้รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา แต่มาเร็วกว่าปกติ 1-2 เดือน ซึ่งจะเริ่มพบผู้ป่วยมากในเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ข้อมูลสำนักระบาดวิทยาตั้งแต่ 1 มกราคม – 7 กรกฎาคม 2556 พบผู้ป่วยแล้ว 18,181 ราย ยังไม่พบผู้เสียชีวิต ร้อยละ 74 เป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี พบได้มากในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล

นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า ขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองช่วยดูแลลูกหลานไม่ให้ป่วย เพราะโรคนี้เป็นโรคที่ป้องกันได้ง่าย โดยใช้หลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังจากเข้าไปในที่ชุมชนหรือใช้ห้องน้ำสาธารณะ โดยสามารถสังเกตอาการของเด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้ได้ คือเด็กมีไข้ปานกลางถึงไข้สูง ร่วมกับมีอาการเบื่ออาหาร กินอาหารไม่ได้ มีแผลในปาก มีตุ่มแดง ตุ่มพองขึ้นตามมือเท้า ลักษณะไม่คัน ขอให้พาไปพบแพทย์ โรคนี้รักษาได้ ส่วนใหญ่มักอาการไม่รุนแรง หายได้เองภายใน 7-10 วัน มีจำนวนน้อยมากที่จะมีโรคแทรกซ้อน

        ด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคมือเท้าปาก เกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในลำไส้ หรือเรียกว่า เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) มีหลายชนิด ที่พบบ่อยคือไวรัสคอกซากี โดยพบผู้ป่วยได้ประปรายตลอดปี แต่จะพบมากขึ้นในฤดูฝน เนื่องจากอากาศเย็น ชื้น ไวรัสเจริญเติบโตได้ดี ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการระบาดมากจากความแออัด ระบบการถ่ายเทอากาศไม่ดี ระบบความสะอาดสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม และสุขวิทยาส่วนบุคคล ส่วนใหญ่มักเกิดตามสถานที่รับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล ในการรักษาจะใช้แบบประคับประคองบรรเทาอาการ เช่น ลดไข้ แก้ปวด ผู้ปกครองควรเช็ดตัวลดไข้เป็นระยะๆ ให้เด็กกินอาหารเหลวหรืออาหารอ่อน ย่อยง่าย รสไม่จัด เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ไอศกรีม น้ำหวาน หรือน้ำผลไม้ ให้เด็กนอนหลับพักผ่อนให้มากๆ หากเป็นเด็กอ่อนอาจต้องป้อนนมให้แทนการดูดนม เพื่อลดอาการปวดแผลภายในปาก

        ที่สำคัญ จะต้องป้องกันอาการแทรกซ้อนที่อาจรุนแรงถึงเสียชีวิต  ซึ่งสามารถสังเกตจากอาการของเด็กได้ หากพบว่าเด็กมีไข้สูง ซึม ไม่ยอมกินนม หรืออาหาร หรือดื่มน้ำแล้วอาเจียนบ่อย มีอาการหอบแขนขาอ่อนแรง ชัก ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลทันที เพราะอาจเกิดอาการแทรกซ้อนจากภาวะสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือน้ำท่วมปอด ในกลุ่มเด็กเล็กที่แนะนำให้ดูแลเป็นพิเศษ ได้แก่ เด็กคลอดก่อนกำหนด เด็กขาดสารอาหาร เด็กที่มีโรคประจำตัวตั้งแต่แรกเกิด เช่น โรคหัวใจ มะเร็งเม็ดเลือดขาว ติดเชื้อเอชไอวี เนื่องจากภูมิต้านทานอ่อนแอ หากป่วยแล้วจะมีอาการรุนแรงกว่าเด็กทั่วไป

        ในการป้องกันโรคมือเท้าปาก ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำคู่มือป้องกันโรคมือเท้าปากให้โรงเรียน และศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศ อบรมครูเรื่องอาการป่วยและวิธีการตรวจหาความผิดปกติ จัดระบบการประสานงานระหว่างโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก และสถานพยาบาล เพื่อป้องกันควบคุมโรคในกรณีที่พบเด็กป่วย แนะนำให้ดูแลความสะอาดสระว่ายน้ำ และตรวจค่าคลอรีนตกค้างในน้ำให้อยู่ในระดับที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ คือ 0.6-1 พีพีเอ็ม ดูแลให้เด็กถ่ายอุจจาระลงในส้วม กำจัดผ้าอ้อมสำเร็จรูปอย่างถูกวิธี ให้ล้างมือฟอกสบู่ก่อนเตรียมอาหารหรือนมให้เด็ก ทำความสะอาดของเล่นเด็ก เครื่องเล่นของเด็กทุกวัน

********************************* 12 กรกฎาคม 2556



   
   


View 10    12/07/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ