รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  เผยขณะนี้ไทยมีคนพิการทั่วประเทศเกือบ 2 ล้านคน ชี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสาเหตุความพิการ กว่าร้อยละ 80 จากโรคเรื้อรัง 3 โรคที่คนไทยป่วยมาก อุบัติเหตุจราจรและการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุ จะเป็นปัญหาใหญ่ของไทยในอนาคต เร่งวางมาตรการรับ มือทั้งการป้องกัน การพัฒนาระบบบริการคนพิการที่บ้าน ในชุมชน ผลิตและพัฒนาเครื่องช่วยความพิการทดแทนอวัยวะที่ขาดหายไป เพิ่มเครือข่ายบริการแขนขาเทียมในภูมิภาค 113 แห่ง

            วันนี้ (14 กรกฏาคม 2556) ที่โรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุขนาด 5 ชั้น ของโรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก วงเงิน 255 ล้านบาท การก่อสร้างจะแล้วเสร็จพ.ศ. 2558  เพื่อสร้างความพร้อมการเป็นศูนย์กลางการแพทย์ระดับสูงด้านอุบัติเหตุหัวใจ  และ มะเร็ง ในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 8 จังหวัดได้แก่ พิษณุโลก  สุโขทัย  พิจิตร  ตาก เพชรบูรณ์  กำแพงเพชร  อุตรดิตถ์  และแพร่ จากนั้นเดินทางไปเปิดอาคารศูนย์ผลิตและวิจัยกายอุปกรณ์ช่วยเหลือคนพิการของโรงพยาบาลพุทธชินราช ตั้งอยู่ที่ตำบลปากโทก  อ.เมือง จ.พิษณุโลก
               นายแพทย์ประดิษฐ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสภาพปัญหาความพิการของคนไทยและการเตรียมพร้อมรับมือของกระทรวงสาธารณสุขว่า  ว่า จากการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขพบว่าทั่วประเทศมีคนพิการประมาณ 1.9 ล้านคน  โดยมีคนพิการที่ขึ้นทะเบียนคนพิการได้รับการช่วยเหลือแล้ว 1.3 ล้านกว่าคน คิดเป็นร้อยละ 73  โดยเกือบครึ่งเป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย    ทั้งนี้คาดการณ์ว่าจำนวนผู้พิการของไทยจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ  โดยสาเหตุความพิการกว่าร้อยละ 80 มาจาก 3 สาเหตุหลักคือ 1. โรคเรื้อรังที่คนไทยป่วยกันมาก 3 โรค คือเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดสมองที่ทำให้เกิดของโรคอัมพฤกษ์อัมพาต  2.อุบัติเหตุจราจรจากขับเร็วไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัยเมาแล้วขับ และ 3. จากการที่ไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะมีโรคเรื้อรังประจำตัว จะมีความพิการร่วมด้วย  
จึงต้องวางแผนรับมือและเร่งป้องกันปัญหาโดยลดจำนวนการเกิดเหตุอุบัติเหตุและลดการป่วยเป็นโรคเรื้อรังและป้องกันปัญหาแทรกซ้อนในผู้ที่ป่วยแล้ว ให้ได้มากที่สุด
                        

                        

         นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวต่อว่า ในการช่วยเหลือคนพิการ  กระทรวงสาธารณสุขได้มอบให้ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาระบบริการ  โดยขณะนี้ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์กิจกรรมฟื้นฟูตามพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534  จาก 13 รายการ เป็น 26 รายการ ผลักดันให้สิทธิประโยชน์อุปกรณ์ช่วยคนพิการ 3 กองทุนสุขภาพให้เท่าเทียมกัน และจัดงบประมาณสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการที่ 3 กองทุนไม่สามารถสนับสนุนได้ ปีละ 56 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้จัดไปแล้ว 2,475 ชิ้น อาทิ แขนขาเทียม รถนั่งคนพิการ เบ้าอ่อนขาเทียมช่วยผู้ป่วยเบาหวาน อุปกรณ์ทางการมองเห็นสำหรับคนพิการสายตาเลือนราง  สื่อส่งเสริมพัฒนาการสำหรับเด็กพิการเป็นต้น  

              ขณะเดียวกันเพิ่มเครือข่ายบริการแขนขาเทียม อุปกรณ์มูลค่าสูง ไปสู่ภูมิภาคให้มากขึ้นรวม 113 แห่ง เพื่อให้คนพิการซึ่งกว่าร้อยละ 80 อยู่ในชนบท ได้เข้าถึงบริการที่ใกล้บ้าน และ พัฒนาศักยภาพการผลิตให้สามารถดูแลคนพิการที่มีปัญหาแทรกซ้อนเพื่อไม่ต้องเดินทางมารับบริการที่ส่วนกลาง เช่น โรงพยาบาล(รพ.)ราชบุรี รพ.พุทธชินราชพิษณุโลก รพ.ศรีนครินทร์ขอนแก่น รพ.มหาราชนครราชสีมา รพ สรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี รพ.สงขลานครินทร์  พัฒนาระบบส่งต่อดูแลคนพิการใน 12 เขตบริการ จัดระบบการฟื้นฟูผู้ป่วยถึงบ้าน โดยทีมสหวิชาชีพทั้งแผนปัจจุบันควบคู่การดูแลแบบแพทย์แผนไทย  และพัฒนาระบบการฟื้นฟูคนพิการโดยชุมชนต้นแบบใน 4 จังหวัดได้แก่ ที่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย อ.ด่านซ้าย จ.เลย อ.นายายอาม จ.จันทบุรี และอ.ท่าแซะ จ.ชุมพร เพื่อขยายผลใช้ทั่วประเทศ นายแพทย์ประดิษฐกล่าว

            ด้านนายแพทย์ประเสริฐ ขันเงิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพุทธชินราช กล่าวว่า โรงพยาบาลพุทธชินราช ได้เปิดให้บริการงานกายอุปกรณ์ กลุ่มงานเวชกรรมฟื้นฟู ตั้งแต่ปี 2524 เป็นต้นมา เริ่มจากการผลิตอุปกรณ์ช่วยพยุงเดิน เช่น ไม้ค้ำยันรักแร้ ต่อมาในปี 2529 เริ่มให้บริการผลิตขาเทียม ปัจจุบันสามารถให้บริการกายอุปกรณ์ทดแทนอวัยวะส่วนที่ขาดให้ผู้พิการแบบครบวงจร และได้พัฒนาและผลิตขาเทียมกันน้ำให้ผู้พิการ  ช่วยให้ผู้พิการซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร สามารถทำงานในไร่นาได้ และได้รับรางวัลนวตกรรมดีเด่นระดับประเทศ   ปัจจุบันได้พัฒนาเครือข่ายการบริการด้านกายอุปกรณ์ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 8 จังหวัด ได้แก่ ขาเทียม แขนเทียม โลหะดามขา พลาสติกดามขา รองเท้าคนพิการ รองเท้าผู้ป่วยเบาหวาน รวมทั้งซ่อมรถเข็นนั่งคนพิการ เข่าเทียม ไม้เท้าค้ำยัน แต่ละปีให้บริการผู้ป่วยปีละประมาณ 400 ราย  สำหรับศูนย์ผลิตและวิจัยกายอุปกรณ์ตำบลปากโทกนี้  สร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อผลิต วิจัย และพัฒนากายอุปกรณ์ ให้มีคุณภาพมาตรฐานทัดเทียมสากล ขนาดเหมาะกับคนไทยมีจำนวนเพียงพอในการให้บริการทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ

***************************** 14 กรกฏาคม 2556



   
   


View 13    14/07/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ