“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 136 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ย้ำพ่อค้าแม่ค้า ให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ส่งเจ้าหน้าที่ออกสุ่มตรวจตั้งแต่คืนวันที่ 21 -23 กรกฎาคม 2556 หากพบฝ่าฝืนโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตลอดปี 2555 พบผู้กระทำผิด ฝ่าฝืนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ รวม 66,000 กว่าราย เพิ่มขึ้นจากปี 2554 กว่า 10,000 ราย อันดับ 1 คือเมาแล้วขับ
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา ซึ่งตรงกับวันที่ 22 และ 23 กรกฎาคม 2556 ซึ่งตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการกำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552 ในพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ได้กำหนดห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ในวันพระใหญ่ 4 วัน ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา กระทรวงสาธารณสุขจึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการค้าทั่วประเทศให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งนอกจากจะขัดต่อหลักศีลธรรมในพุทธศาสนาแล้ว ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ยังก่อให้เกิดปัญหา เช่น อุบัติเหตุจราจรจากการเมาแล้วขับ ปัญหาอาชญากรรม
โดยเฉพาะสุขภาพของผู้ดื่ม หน่วยงานนานาชาติด้านวิจัยโรคมะเร็ง ( International Agency for Research on Cancer) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้องค์การอนามัยโลกรายงานล่าสุด ในปี 2555 ว่ามีหลักฐานชัดเจนว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งถึง 8 กลุ่มได้แก่ มะเร็งช่องปาก มะเร็งคอหอย มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งเต้านม และมะเร็งตับอ่อน
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีข้างต้น จะมีผลตั้งแต่หลัง 24.00 น. ของวันที่ 21กรกฎาคม2556 ต่อเนื่องไปจนถึง 24.00 น.ของวันที่ 23กรกฎาคม 2556 ร้านค้าทุกแห่งต้องงดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดทั้งหมด ได้ให้สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ ออกตรวจร้านค้าในพื้นที่ หากพบผู้ฝ่าฝืนให้ลงโทษโดยไม่มีข้อยกเว้น โดยมีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ด้านดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการออกตรวจผู้กระทำฝ่าฝืนกฎหมาย ได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคออกตรวจจับดำเนินคดีร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เพื่อตรวจกวดขันการปฏิบัติตามกฎหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่องสถานที่ห้ามขายห้ามดื่ม วันและเวลาห้ามขาย บุคคลที่ห้ามขาย และการโฆษณาส่งเสริมการขายที่ผิดกฎหมาย โดย เริ่มตรวจตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันที่ 21 กรกฎาคม 2556 - 24.00 น. ของวันที่ 23 กรกฎาคม 2556 หากพบกระทำผิดจะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเฉียบขาดทันที
ดร.นายแพทย์พรเทพกล่าวต่อว่า ตลอดปี 2555 พบผู้กระทำผิดพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ รวม 66,881 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ถึง 17,079 ราย โดยเป็นความผิดฐานขับขี่รถในขณะมึนเมาสุรามากอันดับ 1 จำนวน 58,162 ราย คิดเป็นร้อยละ 87 ของผู้กระทำผิดทั้งหมด รองลงมาคือจำหน่ายสุราโดยไม่ได้รับอนุญาต 6,982 ราย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ห้ามดื่ม 669 ราย จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวัน เวลา ที่ประกาศห้ามจำหน่าย 307 ราย และจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ห้าม 288 ราย
************************** 21 กรกฎาคม 2556