กระทรวงสาธารณสุข ย้ำเตือนประชาชน ที่นิยมรับประทานเห็ดป่า ระวังเห็ดพิษ 2 ชนิด ซึ่งมีลักษณะ ใกล้เคียงกับเห็ดไข่ห่าน และเห็ดระโงกที่กินได้ พบเป็นสาเหตุป่วยและเสียชีวิตมากที่สุด เนื่องจากแยกไม่ออกโดยเฉพาะขณะที่ดอกยังอ่อนหรือตูม ปีนี้ทั่วประเทศพบผู้ที่ได้รับพิษจากกการกินเห็ดป่า 649 ราย เสียชีวิต 3 ราย พร้อมย้ำเตือนประชาชนไม่ควรกินเห็ดป่าแกล้มเหล้า เพราะหากเป็นเห็ดพิษจะทำให้อาการรุนแรงขึ้น รวมทั้งผู้ที่เป็นโรคตับและโรคไต เพราะหากเกิดอาการจะไม่สามารถแยกได้ว่าเกิดจากพิษเห็ดหรือโรคกำเริบ
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า มีความเป็นห่วงประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่นิยมบริโภคเห็ดป่า ซึ่งเห็ดจะขึ้นชุกมากในฤดูฝนทุกปี เห็ดที่ขึ้นตามธรรมชาติในป่า มีทั้งชนิดกินได้ ประชาชนรู้จัก และบางชนิดเป็นเห็ดมีพิษ แต่มีลักษณะใกล้เคียงกับเห็ดที่กินได้ ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้บ่อยและนำมารับประทานจนเกิดอันตรายถึงชีวิต แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดต่างๆ ได้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อให้เลือกบริโภคเห็ดป่าที่ปลอดภัย แต่อย่างไรก็ตามก็ยังพบปัญหาทุกปี
ในปี 2556 นี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 17 กรกฎาคม สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานทั่วประเทศมีผู้ป่วยรับประทานเห็ดพิษ เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 649 ราย อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากอันดับ 1 จำนวน 328 ราย รองลงมาคือภาคเหนือ 213 ราย ภาคกลาง 67 ราย และภาคใต้ 41 ราย เสียชีวิต 3 ราย ทั้ง 3 รายอยู่ในจังหวัดตาก ยอดเพิ่มสูงมากในเดือนพฤษภาคม และมิถุนายนพบร้อยละ 70 ของผู้ป่วยทั้งหมด จังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงสุด 5 อันดับแรกได้แก่ อุบลราชธานี 103 ราย เชียงราย 102 ราย ศรีสะเกษ 43 ราย นครพนม 39 ราย และเลย 32 ราย
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า จากการสอบสวนหาสาเหตุของการป่วยและเสียชีวิต พบว่าเห็ดที่ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตนำมากิน เป็นเห็ดป่าที่มีพิษ ที่พบบ่อยที่สุดคือ เห็ดไข่หิน และเห็ดระโงกหิน เห็ด 2 ชนิดนี้ อยู่ในกลุ่มเดียวกับเห็ดไข่ห่านที่นิยมกินในภาคเหนือ ซึ่งชาวบ้านเรียกได้หลายชื่อ เช่น เห็ดไข่ห่าน เห็ดไข่เหลือง เห็ดโม่งโก้ง และเห็ดระโงกที่นิยมกินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเห็ดที่มีพิษ 2 ชนิด ชาวบ้านจะเรียกว่าเห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก หรือเห็ดสะงาก เห็ดระโงกตีนตัน เห็ดไข่ตายซาก หรือตายฮาก เห็ดไส้เดือน และเห็ดขี้ไก่เดือน เห็ดพิษนี้ จะมีลักษณะดอก สี โดยทั่วไปจะเหมือนเห็ดที่ชาวบ้านรู้จักและกินได้ แต่ในขณะที่เห็ดยังเป็นดอกอ่อน ดอกตูม ซึ่งจะมีลักษณะเป็นก้อนกลมรีคล้ายไข่จะเหมือนกันมาก ดังนั้นจึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการกินเห็ดระโงกที่ยังเป็นดอกอ่อน ดอกตูม หรือขณะยังเป็นก้อนกลมรีคล้ายไข่ เพราะแยกได้ยากว่าเป็นเห็ดพิษหรือไม่มีพิษ และวิธีป้องกันอันตรายจากเห็ดพิษที่ดีที่สุดและง่ายที่สุดคือ หลีกเลี่ยงการรับประทานเห็ดป่าหรือเห็ดที่ไม่คุ้นเคยไม่รู้จักทุกชนิด
ทางด้านนายแพทย์ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กล่าวว่า สารพิษที่อยู่ในกลุ่มเห็ดระโงกหิน เห็ดไข่ห่าน มีพิษรุนแรงมากที่สุดคือ อะมาท๊อกซิน และฟาโลท็อกซิน ความร้อนไม่สามารถทำลายพิษได้ หลังรับประทานอาการจะมีมากน้อย เร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับปริมาณที่รับประทานเข้าไป ส่วนใหญ่แสดงอาการหลังรับประทานแล้วประมาณ 6-12 ชั่วโมง เร็วที่สุดคือภายใน 2-3 ชั่วโมง ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ ทําให้พิษถูกดูดซึมไปจากทางเดินอาหารเกือบหมด ในรายที่รุนแรงอาจเสียชีวิตจากตับหรือไตวาย ภายใน 4 –16 วัน ที่ผ่านมาพบว่าผู้ป่วยที่กินเห็ดพิษและมีอาการรุนแรงพบว่า ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย เนื่องจากแอลกอฮอล์จะทำให้พิษของเห็ดกระจายไปอย่างรวดเร็วและรุนแรงขึ้น
“ผู้ที่ไม่ควรรับประทานเห็ดป่า คือผู้ที่สุขภาพไม่ค่อยดีหรือมีโรคประจําตัว โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคตับและโรคไต เนื่องจากเมื่อรับประทานเห็ดแล้ว หากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือถ่ายอุจจาระเหลว หากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือร่วมกัน จะไม่สามารถแยกได้ออกว่าเป็นอาการที่เกิดจากโรคกำเริบหรือเกิดจากพิษเห็ด และประการสำคัญเมื่อเกิดอาการแล้ว ไม่ควรซื้อยามากินเองหรือไปรักษากับหมอพื้นบ้าน ขอให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล และเล่าประวัติการกินเห็ดทั้งชนิดและปริมาณให้แพทย์ทราบโดยละเอียด เพื่อจะได้รับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป” นายแพทย์ภาสกรกล่าว
นายแพทย์ภาสกรกล่าวต่อว่า วิธีการทดสอบเห็ดพิษตามแบบภูมิปัญญาพื้นบ้าน ที่ประชาชนมักปฏิบัติสืบต่อกันมา เพื่อแยกชนิดระหว่างเห็ดที่กินได้และเห็ดพิษเช่น การนำเห็ดไปต้มพร้อมกับข้าวสาร แล้วข้าวสารไม่ดำ หรือต้มเห็ดพร้อมกับช้อนเงิน แล้วช้อนเงินไม่เปลี่ยนสี ไม่สามารถนํามาใช้ทดสอบกับเห็ดป่ากลุ่มเห็ดระโงกหินได้ รวมทั้งการเก็บเห็ดที่เกิดในที่เดิมๆที่เคยเก็บมากิน หรือเห็ดที่มีรอยแมลงกัดกิน ก็ไม่ได้แสดงว่าปลอดภัย
ทั้งนี้ ลักษณะภายนอกของเห็ดพิษ ที่สังเกตได้เบื้องต้นดังนี้ ส่วนใหญ่มักเจริญงอกงามในป่า มีก้านสูงลำต้นไม่พองออก โดยเฉพาะที่ฐาน กับที่วงแหวน เห็นชัดเจน สีผิวของหมวก มีหลายสี เช่น สีน้ำมะนาวถึงสีส้ม สีขาวถึงสีเหลือง ผิวของหมวกเห็ด ส่วนมากมีเยื่อหุ้มดอกเหลืออยู่ ในลักษณะที่ดึงออกได้หรือเป็นสะเก็ดติดอยู่ ครีบเห็ดแยกออกจากกันชัดเจน มักมีสีขาว บางชนิดสีแดงหรือสีเขียวอมเหลือง หากประชาชนมีอาการป่วยหลังกินเห็ดพิษ วิธีการช่วยชีวิตเบื้องต้นขอให้ทำให้ผู้ป่วยอาเจียนออกมาให้มากที่สุด เพื่อให้พิษออกจากร่างกายมากที่สุด และรีบนำส่งโรงพยาบาล
********************************* 23 กรกฎาคม 2556