“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 136 View
- อ่านต่อ
องค์การอนามัยโลก เลือกไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเพื่อกำจัดโรคเรื้อนให้หมดไปจากโลก ในฐานะเป็นประเทศที่ประสบผลสำเร็จในการการกำจัดโรคเรื้อนไม่เป็นปัญหาสาธารณสุข ระบุขณะนี้ทั่วโลกพบผู้ป่วย 180,000คน ลดจากเดิมที่มีกว่า 5 ล้านคนในรอบ 30 ปี โดยมี 18 ประเทศที่ยังคงพบปัญหาการแพร่ระบาด ส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียและอาฟริกา และเร่งรัดให้ค้นหาผู้ป่วยรักษาให้เร็วขึ้นเพื่อลดความพิการ
วันนี้ (24 กรกฎาคม 2556) ที่โรงแรมดุสิตธานี นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมโรคเรื้อนโลก ในหัวข้อความท้าทายในการแก้ไขปัญหาที่เหลืออยู่ (International Leprosy Summit : Overcoming the remaining challenges) ประกอบด้วย รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารโครงการโรคเรื้อน ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่องค์กรเอกชน จาก 18 ประเทศที่ยังมีการระบาดของโรคเรื้อน จัดโดยองค์การอนามัยโลก ร่วมกับมูลนิธินิปปอนแห่งประเทศญี่ปุ่น และ กระทรวงสาธารณสุขไทย ระหว่างวันที่ 24 - 26 กรกฎาคม 2556 เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ในการกำจัดโรคเรื้อนให้หมดไปจากโลก (A Leprosy free world) โดยจะมีการจัดทำ “ปฏิญญากรุงเทพมหานคร” (Bangkok Declaration) เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกแสดงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานโรคเรื้อนอย่างเข้มข้น เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
นายสรวงศ์กล่าวว่า โรคเรื้อนเป็นโรคที่ทำให้เกิดความพิการสูงกว่าโรคอื่น โดยเฉพาะที่มือ เท้า และตา องค์การอนามัยโลกได้เร่งรัดให้ทุกประเทศกำจัดโรคนี้ให้หมดไป ไม่เป็นปัญหาสาธารณสุข เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยลดลงเหลือเพียง 180,000 คนในปี 2555 จากเดิมที่มีมากถึง 5 ล้านกว่าคนในช่วง 30 ปีก่อน โดยมีประเทศที่ยังมีปัญหาการแพร่ระบาดของโรคนี้ คือมีการค้นพบผู้ป่วยรายใหม่ในรอบปีเกินกว่า 1,000 คน ทั้งหมด18 ประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในแถบเอเชียและอาฟริกา ได้แก่ แองโกลา บังคลาเทศ บราซิล จีน คองโก เอธิโอเปีย อินเดีย อินโดนีเซีย มาดากัสการ์ โมซัมบิก พม่า เนปาล ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ เซาท์ซูดาน ศรีลังกา ซูดาน และแทนซาเนีย ส่วนประเทศไทยได้รับการยกย่องว่าประสบความสำเร็จในการกำจัดโรคเรื้อนแล้ว และได้รับเกียรติให้เป็นสถานที่ในการจัดการประชุมครั้งนี้
นายสรวงศ์กล่าวต่อว่า ปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกพบขณะนี้คือ ผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ส่วนใหญ่จะมาพร้อมกับความพิการแล้ว ซึ่งโรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ และไม่มีความพิการเกิดขึ้นหากมาพบแพทย์เร็ว องค์การอนามัยโลก ได้ตั้งเป้าหมายภายในปี 2558 ให้ทุกประเทศลดอัตราความพิการในผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ต่อประชากร 1 แสนคนลงจากเดิมร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับอัตราความพิการในปี 2553 ส่วนกระทรวงสาธารณสุขไทยได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ร้อยละ 50 ขณะเดียวกัน จะเน้นการป้องกันโรคในกลุ่มของแรงงานต่างด้าว โดยทุกรายจะต้องผ่านการตรวจสุขภาพ เพื่อปกป้องคนไทย และป้องกันไม่ให้โรคเรื้อนกลับมาเป็นปัญหาสาธารณสุขอีกครั้ง
ด้านดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในปี 2555 ไทยมีผู้ป่วยโรคเรื้อนขึ้นทะเบียนรักษารวม 555 คน และพบผู้ป่วยรายใหม่เพียง 220 คน เฉลี่ยพบ 0.09 คนต่อประชากร 10,000 คน ลดลงจากปี 2496 ที่พบผู้ป่วย 1.4 แสนคน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้บางจังหวัด จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากกว่า 1 คนต่อประชากร 10,000 คน มี 8 อำเภอใน 7 จังหวัด ได้แก่ อ.บัวลาย จ.นครราชสีมา อ.เปือยน้อย จ.ขอนแก่น อ.แกดำ จ.มหาสารคาม อ.นาทม จ.นครพนม อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี และที่อ.ระแงะ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส
ดร.นายแพทย์พรเทพกล่าวต่อว่า โรคเรื้อนเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า ไมโครแบคทีเรียม เลปแปร้ (Mycobacterium Laprae) ติดต่อทางการหายใจ อาการของโรคนี้คือ ผิวหนังจะมีลักษณะเป็นผื่น มีสีซีดจางหรือเข้มกว่าผิวหนังปกติ มีอาการชา ไม่เจ็บ ไม่คัน ประชาชนมักเข้าใจผิด คิดว่าเป็นโรคผิวหนังทั่วไป หากผื่นขึ้นในบริเวณที่มองไม่เห็นจะไม่รู้ตัว จึงละเลยปล่อยทิ้งไว้ ไม่ไปรับการรักษา ทำให้อาการลุกลามจนเกิดความพิการตามมา ขณะนี้พบร้อยละ 14 ของผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรมควบคุมโรค ได้พัฒนาระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อนในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน เน้นหนักในรพ. 20 แห่งในเขตบริการสุขภาพที่ยังมีปัญหาการแพร่ระบาดของโรค โดยการอบรมฟื้นฟูความรู้แก่แพทย์ และจัดระบบให้เป็นศูนย์ตรวจรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยในพื้นที่ โดยขณะนี้ได้ใช้สูตรยารักษาเดียวกันทั่วโลก ใช้เวลารักษาตั้งแต่ 6 เดือน - 2 ปี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค สามารถเข้ารับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
************************************ 24 กรกฎาคม 2556