“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 138 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยขณะนี้คนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากเป็นอันดับ 1 ปีละกว่า 60,000 คน ครองอันดับติดต่อกันมานานกว่า 10 ปี คาดการณ์ในสังคมผู้สูงอายุ จะพบโรคนี้มากขึ้นด้วย ย้ำเตือนประชาชนทุกวัยอย่าประมาท ควรได้รับการตรวจสุขภาพทุกปี แม้ว่าตนเองจะแข็งแรงหรือไม่เคยป่วยก็ตาม เพราะโรคนี้จะค่อยๆ ก่อตัวโดยไม่รู้ตัวมาก่อน แนะสูตรห่างไกลมะเร็ง 5 ทำ 5 ไม่ ต้องปฎิบัติให้เป็นนิสัย แนะวิธีสังเกตอาการมะเร็ง 7 สัญญาณ
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ของโรคมะเร็งในประเทศไทย ว่า ขณะนี้โรคมะเร็งเป็นปัญหาการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย ครองอันดับติดต่อกันมากว่า 10 ปี ปีละประมาณ 60,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้องประการหนึ่งในนั้น คือ อายุที่เพิ่มขึ้น ความเสี่ยงของโรคจะเพิ่มขึ้นด้วย โดยมะเร็งเป็นโรคที่มีระยะเวลาการก่อโรคที่ยาวนาน ใช้เวลาหลายปีกว่าจะปรากฏอาการผิดปกติ ผู้ที่เป็นส่วนใหญ่มักจะไม่รู้ตัว และปัจจุบันประชาชนไทยมีอายุยืนยาวขึ้น ระบบการควบคุมโรคติดต่อดีขึ้น ขณะเดียวกันมีการควบคุมอัตราการตายของทารกแรกคลอดและเด็กลดลง ส่งผลทำให้โครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงไป กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงคาดการณ์ว่าในอนาคตจะพบผู้ป่วยโรคมะเร็งได้มากขึ้น
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขจะเน้นหนักคือการให้ความรู้ประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งทั้งหญิงและชายให้ครอบคลุมทุกอวัยวะ การตรวจคัดกรอง และเพิ่มการตรวจสุขภาพประจำปีแก่ประชาชนตามกลุ่มอายุ ซึ่งผู้ที่มีไม่เคยป่วยหรือมีสุขภาพแข็งแรง ก็มีโอกาสเป็นได้ การตรวจสุขภาพ จะทำให้ประชาชนรู้สถานะสุขภาพของตนเอง มีการเฝ้าระวังความผิดปกติ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดความเสี่ยง หรือได้รับการดูแลรักษาตั้งแต่พบว่าเริ่มมีอาการผิดปกติ เชื่อว่าจะลดความรุนแรงปัญหาได้ เนื่องจากผลการวิจัยทั่วโลกยืนยันตรงกันว่าโรคมะเร็งร้อยละ 60 สามารถป้องกันได้ เช่นกลุ่มวัยรุ่นจะเน้นให้ความรู้สุขภาพทางเพศ ลดการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่ทำให้เป็นมะเร็งตับ เช่นไวรัสตับอักเสบบี วัยแรงงานหญิงเน้นการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก หรืองดบริโภคอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง
นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวต่อว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำคำแนะนำประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง โดยใช้สูตรปฏิบัติตัว 5 ทำ 5 ไม่ ห่างไกลมะเร็ง โดย 5 ทำ ประกอบด้วย 1.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละอย่างน้อย 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาทีขึ้นไป สามารถทำได้ทุกวัย 2. ทำจิตใจให้แจ่มใส ซึ่งการออกกำลังกายจะช่วยให้อารมณ์แจ่มใสได้ด้วย 3.กินผักผลไม้ให้ได้ครึ่งหนึ่งของอาหารที่บริโภคแต่ละมื้อ 4.รับประทานอาหารหลากหลาย 5.ตรวจร่างกายเป็นประจำ แม้ว่าตนเองจะมีสุขภาพแข็งแรงหรือไม่เคยเจ็บป่วยก็ตาม ส่วน 5 ไม่ ประกอบด้วย 1.ไม่สูบบุหรี่หรือสูดดมควันบุหรี่ 2.ไม่มั่วเซ็กซ์ 3.ไม่ดื่มสุรา 4.ไม่ตากแดดจ้า 5.ไม่กินปลาน้ำจืดดิบ
ทางด้านนายแพทย์ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งของประเทศไทยในปี พ.ศ.2552 มีจำนวนผู้ป่วยใหม่ 102,791 คน ชายหญิงพอๆกัน มะเร็งที่พบมากในผู้ชาย ได้แก่ มะเร็งตับ 13,281 คน ปอด 8,403 คน ลำไส้และทวารหนัก 4,790 คน ต่อมลูกหมาก 2,400 คน และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง 1,994 คน ส่วนในผู้หญิง ที่พบมากอันดับ 1ได้แก่ มะเร็งเต้านม 10,193 คน ปากมดลูก 6,452 คน ตับ 6,143 คน ปอด 4,322 คน ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก 4,144 คน
นายแพทย์ธีรวุฒิกล่าวต่อว่า ในส่วนของผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง จากรายงานข้อมูลของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ที่รวบรวมจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ ในพ.ศ.2554 พบทั้งหมด 61,082 คน หรือประมาณ 1 ใน 5 ของการเสียชีวิตทุกสาเหตุของคนไทยในแต่ละปี เป็นชาย 35,437 คน หญิง 25,645 คน โดยมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตในเพศชาย ได้แก่ มะเร็งตับ 10,189 คน มะเร็งปอด 6,769 คน มะเร็งลำไส้ 1,501 คน มะเร็งช่องปากและคอหอย 1,314 คน และมะเร็งเม็ดเลือดขาว 1,135 คน ส่วนในผู้หญิงได้แก่ มะเร็งตับ 4,125 คน มะเร็งปอด 3,434 คน มะเร็งเต้านม 2,724 คน มะเร็งปากมดลูก 1,749 คน และมะเร็งลำไส้ใหญ่ 1,146 คน
ทั้งนี้ สัญญาณอันตรายของโรคมะเร็ง ที่พบบ่อย ประชาชนสามารถใช้สังเกตอาการผิดปกติของตนเองได้ มี 7 ประการ ได้แก่ 1.ระบบขับถ่ายผิดไปจากปกติ เช่นถ่ายเป็นก้อนแข็ง ท้องผูกนานหลายวัน มีกลิ่นผายลมเหม็นกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากสิ่งเน่าเสียคั่งค้างในลำไส้ใหญ่ 2. เป็นแผลเรื้อรัง รักษาไม่หาย 3.ร่างกายมีก้อนมีตุ่มขึ้น 4.กินกลืนอาหารลำบาก 5.มีเลือดออกที่ทวารหนัก หรือช่องคลอด 6.ไฝ หูด มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ 7.ไอเรื้อรัง เสียงแหบ หากพบความผิดปกติดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหามะเร็ง เพราะการค้นหามะเร็งระยะเริ่มแรกนั้นมีประโยชน์มาก เพราะโรคชนิดนี้ หากเป็นในระยะเริ่มต้นคือก้อนเนื้อยังไม่ขยายตัวลุกลาม จะทำให้การรักษาได้ผลดี มีโอกาสหายขาดสูง เนื่องจากโรคนี้ใช้เวลาก่อโรคนานหลายปีต่างจากโรคติดเชื้ออื่นๆ ดังนั้น การรักษาเร็ว จะเป็นการป้องกันมิให้เข้าสู่ระยะมะเร็งลุกลามหรือเรียกว่าระยะที่ 4 ซึ่งโอกาสหายมีน้อยมาก
นายแพทย์ธีรวุฒิ กล่าวอีกว่า ในการรักษาโรคมะเร็ง ขณะนี้สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ใช้วิธีการรักษาตามมาตรฐานระดับสากล โดยหลัก ๆ คือ การผสมผสานการรักษาด้วยการผ่าตัด ฉายแสง และให้ยาเคมีบำบัด สำหรับเทคโนโลยีการรักษาใหม่ ที่ใช้ในสถาบันมะเร็งขณะนี้ ได้แก่ 1.การฉายแสงระบบ 4 มิติ (IGRT; Image Guided Radiation Therapy) 2. การรักษายาเคมีด้วยยาพุ่งเป้า (Targeted Therapy) 3. การผ่าตัดด้วยกล้องส่องช่องท้อง (Laparoscopic Surgery) 4.การบำบัดด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ความถี่สูง (HIFU; High-Intensity Focused Ultrasound) และ 5.การบำบัดด้วยความร้อน (Oncothermia)
***************************************** 28 กรกฏาคม 2556