กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากยังอยู่ในช่วงการระบาด กำชับให้ทุกจังหวัดเร่งรัดมาตรควบคุมโรค เน้นเร็วทั้งการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการอยู่ในข่ายสงสัย ดำเนินการควบคุมโรคให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังพบผู้ป่วย และให้ตรวจประเมินค่าลูกน้ำยุงลายต่อเนื่อง ทั้งในบ้าน โรงเรียน โรงพยาบาลทุกพื้นที่ ต้องเป็นศูนย์ ระบุสถานการณ์โรคในปี 2556 ตั้งแต่ต้นปี   - 25 กรกฎาคม   มีผู้ป่วยสะสม 81,763 ราย เสียชีวิต 78 ราย

วันนี้(29 กรกฎาคม 2556)นายแพทย์โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานวอร์รูมไข้เลือดออกกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปร่วมประชุมวอร์รูมไข้เลือดออก ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามมาตรการความคืบหน้าการควบคุมป้องกันโรคในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสภาพพื้นที่มีความหลากหลาย มีปัญหาการแพร่ระบาดอยู่ในอันดับต้นๆของประเทศ โดยพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสมสูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ เพื่อเร่งรัดระบบการควบคุมป้องกันให้เกิดประสิทธิภาพในการลดจำนวนยุงลายและจำนวนผู้ป่วยให้ได้โดยเร็ว 
          นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูฝน  ทุกพื้นที่มีฝนตกชุก  จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคไข้เลือดออก  เนื่องจากมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและจำนวนยุงลายเพิ่มมากขึ้นด้วย    มาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขเน้นหนักในการควบคุมป้องกันเรื่องโรคไข้เลือดออกในช่วง 2 เดือนนี้ มี  3  เรื่องคือ การลดจำนวนผู้ป่วย  การควบคุมป้องกันโรค และลดการเสียชีวิต    จะต้องดำเนินการให้เกิดประสิทธิภาพอย่างรวดเร็ว โดยมีวอร์รูมโรคไข้เลือดออก ประสานทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงกับสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง ติดตามประเมินสถานการณ์และวางมาตรการควบคุมป้องกันโรคในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ขณะนี้มีพื้นที่ 16 จังหวัดที่มีแนวโน้มการระบาดต่อเนื่อง ซึ่งอยู่ในเขตภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียง ได้แก่เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน แพร่ ชัยนาท กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคามและร้อยเอ็ด
          สำหรับมาตรการลดการป่วยและการป้องกันโรค  กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งทีมงาน 5 เสือในระดับจังหวัดและอำเภอ ประกอบด้วยรองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด แพทย์ในโรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลศูนย์ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานควบคุมป้องกันโรค ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนและสาธารณสุขอำเภอ เน้นให้ใช้มาตรการ 5 ป 1 ข และตรวจประเมินปริมาณลูกน้ำยุงลายในพื้นที่สำคัญ ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดการลดความเสี่ยงการป่วย คือโรงพยาบาล โรงเรียน วัดหรือศาสนสถาน จะต้องเป็นศูนย์ทุกแห่ง รวมทั้งที่บ้านประชาชนด้วย ผลสำรวจล่าสุดยังพบมีโรงพยาบาลที่มีปริมาณลูกน้ำยุงลายเกินศูนย์ ร้อยละ 16 ในโรงเรียนมีร้อยละ 19 และวัดหรือศาสนสถานยังมีร้อยละ 13 ซึ่งจะได้เร่งรัดให้เป็นศูนย์ทั้งหมด เพื่อลดความเสี่ยงโรคไข้เลือดออก
          นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า ในส่วนของการควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาดต่อหลังมีผู้ป่วย ซึ่งมีความสำคัญมาก ได้ให้ทุกพื้นที่ใช้มาตรการ 3-3-1โดยเมื่อพบผู้ป่วย ให้รายงานโรคให้หน่วยควบคุมโรคของพื้นที่ภายใน 3ชั่วโมง ให้ อสม.ออกกำจัดลูกน้ำยุงลายที่บ้านและในชุมชนของผู้ป่วยภายใน 3ชั่วโมง และให้ทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วลงควบคุมโรคในพื้นที่ภายใน 1 วัน เพื่อพ่นสารเคมีกำจัดยุงตัวแก่ในรัศมี 100เมตร ป้องกันไม่ให้มีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นในพื้นที่เดิมซ้ำอีก  ส่วนการรักษา เพื่อลดการตาย ได้ให้โรงพยาบาลทุกแห่งในสังกัด จัดจุดตรวจรักษาโรคไข้เลือดออก ( Dengue Corner) ทั้งที่แผนกผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน เพื่อตรวจคัดกรองผู้ป่วยและดูแลรักษาในโรงพยาบาลโดยเฉพาะอย่างใกล้ชิด รวมทั้งมีการป้องกันไม่ให้ยุงกัดผู้ป่วย รวมทั้งจัดระบบส่งต่อผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพรวดเร็ว อบรมฟื้นฟูแพทย์ในพื้นที่ให้มีความชำนาญในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคและมีระบบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในจังหวัด เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาด้านการรักษาในโรงพยาบาลชุมชนอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง 
          ทั้งนี้สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปีนี้ พบผู้ป่วยทุกสัปดาห์ ยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-25 กรกฎาคม 2556 มีผู้ป่วยรวม 81,763 ราย เสียชีวิต 78 ราย   จังหวัดที่มีผู้ป่วยสะสมสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่เชียงใหม่ 6,284 ราย กทม.5,334ราย เชียงราย 5,080 ราย สงขลา 4,701 ราย นครราชสีมา 3,101ราย นครศรีธรรมราช 3,021ราย เพชรบูรณ์ 2,674 ราย ศรีสะเกษ 2,671ราย นครพนม 2,449ราย และร้อยเอ็ด 2,423 ราย โดยผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก ร้อยละ 70 อยู่ในพื้นที่ชนบท ที่เหลืออยู่ในเขตเทศบาล
          ขอย้ำเตือนประชาชนที่ป่วย มีไข้สูงลอย กินยาแล้วไข้ไม่ลด หน้าแดง ปวดศีรษะมาก หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ขอให้คิดถึงโรคไข้เลือดออก และรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับการตรวจรักษาต่อเนื่อง เพื่อให้พ้นระยะอันตรายคือช่วงที่ไข้เริ่มลด ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะช็อค โดยสังเกตุจากอาการของผู้ป่วยได้ คือ ซึมลง อ่อนเพลีย ไม่พูดคุย หรือมีเลือดกำเดาออก หรือเลือดออกตามไรฟัน  หรือถ่ายอุจจาระสีดำ ต้องรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว หากช้าอาจเสียชีวิตได้ นายแพทย์โสภณกล่าว
****************************** 29 กรกฎาคม 2556


   
   


View 10    29/07/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ