สธ.สรุปมติคณะกรรมการศึกษาผลกระทบแร่ใยหินชนิดคริสโซไทล์ เป็นสารกลุ่มก่อมะเร็งปอด มีหลักฐานพบเฉพาะในผู้ที่ทำงานในเหมืองแร่ใยหินและอุตสาหกรรมที่มีการฟุ้งกระจายของแร่ใยหิน แต่ในระดับชุมชนยังไม่พบปรากฏหลักฐานที่กระทบชัดเจน เตรียมสรุปเสนอ ครม.ปลายเดือนสิงหาคม

ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน คริสโซไทล์ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มอบให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการศึกษาผลกระทบของแร่ดังกล่าว ได้ข้อสรุป ว่า ประเทศไทยใช้แร่ใยหินหลายชนิด ซึ่งขณะนี้ได้ห้ามใช้ไปแล้ว 4 ชนิด ซึ่งมีหลักฐานปรากฏชัดเจนว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพ ยังเหลืออีก 1 ตัว คือคริสโซไทล์(Chrysotile) ที่ต้องหาหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพในบริบทของประเทศไทย ซึ่งจากที่ประชุมได้พิจารณาพบว่าหลักฐานที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอ จำนวนผู้ป่วยในประเทศไทยที่ผ่านการตรวจวินิจฉัยมีน้อยมาก พบเพียง 12 ราย ในจำนวนนี้มีประวัติเกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน 5 ราย    ที่ประชุมจึงมุ่งไปที่หลักฐานการวิจัยอ้างอิงจากต่างประเทศ ซึ่งในประเทศจะมีการปรับปรุงระบบให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นทั้งเรื่องการตรวจวินิจฉัย การคัดกรองและการเฝ้าระวังโรค ไม่เฉพาะโรคจากแร่ใยหินเท่านั้นแต่ยังรวมถึงโรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพอื่นๆด้วยให้ข้อมูลเป็นที่น่าเชื่อถือ ครบถ้วนในการดูแลสุขภาพของประชาชนและผู้ใช้แรงงาน 

          นายแพทย์ชาญวิทย์ กล่าวต่อไปว่า จากการรวบรวมเอกสารงานวิจัยจากต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับคริสโซไทล์ที่ใช้กันอยู่โดยผู้เชี่ยวชาญ ได้ข้อสรุปว่าสารนี้จัดอยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็งเช่นเดียวกับแอลกอฮอล์และบุหรี่ แต่เมื่อเทียบกับตัวสารก่อมะเร็งชนิดอื่นพบว่าเกิดได้น้อยกว่า โดยก่อให้เกิดมะเร็งเยื่อหุ้มปอด(Mesothelioma)ได้ 1 ต่อ 500 และมะเร็งปอด 1 ต่อ 50   ดังนั้นจึงอาจจะยังไม่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับแร่ใยหินชนิดอื่นที่ถูกห้ามใช้ไปแล้วและยังมีหลายประเทศคัดค้าน ฤทธิ์การก่อมะเร็งของสารชนิดนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณและเวลาการสัมผัสซึ่งมาตรฐาน อุตสาหกรรมกำหนดจะต้องไม่เกิน 0.1 ไฟเบอร์/ซีซี/ปี ผลกระทบดังกล่าวเกิดขึ้นกับผู้ที่ทำงานในเหมืองแร่ใยหิน ผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมที่มีแร่ใยหิน คริสโซไทล์ฟุ้งกระจายมากอย่างชัดเจน  ส่วนในชุมชนทั่วไปยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ แต่จะต้องติดตามอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยจะจัดทำรายงานผลสรุป และให้ผู้แทนจากสมาคมอุรเวช กลั่นกรองวิชาการร่วมกับทีมเลขานุการ ก่อนแจ้งเวียนให้คณะกรรมการตรวจสอบความถูกต้องตามมติ หากไม่มีการแก้ไข  ก็จะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีปลายเดือนสิงหาคม 2556

“จุดยืนของคณะกรรมการชุดนี้เน้นเรื่องความโปร่งใสของกรรมการแต่ละคน และสามารถตรวจสอบได้ว่าไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องนี้ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี และจะดำเนินตามหน้าที่จะยึดตามหลักการความถูกต้อง   ทางวิชาการที่มีหลักฐานระบุชัดเจน   เพื่อผลประโยชน์ความปลอดภัยของประชาชนและประเทศ และไม่ได้ทำครั้งเดียวจบจะต้องดำเนินการต่อเนื่องระยะยาว หากมีข้อมูลใหม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอด ซึ่งจะทำให้นโยบายของประเทศสอดคล้องกับบริบทและข้อเท็จจริง”นายแพทย์ชาญวิทย์กล่าว         

********************************* 29 กรกฎาคม 2556



   
   


View 14    31/07/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ