วันนี้ (31 กรกฏาคม 2556) ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการเวชศาสตร์ฉุกเฉินครั้งที่ 17 เรื่อง ฉุกเฉินปลอดภัย (Safety EM)จัดโดยโรงพยาบาลราชวิถี ร่วมกับสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนามาตรฐานองค์ความรู้ ทักษะ เทคนิควิธี เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินในระดับประเทศให้ได้มาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน มีแพทย์ พยาบาล เวชกรฉุกเฉิน และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงานฉุกเฉิน ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั่วประเทศ ร่วมประชุมกว่า 300 คน
นายสรวงศ์ ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลมีนโยบายเร่งรัดให้มีการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินของโรงพยาบาลทุกระดับ เพื่อให้ประชาชนที่เจ็บป่วยอย่างปัจจุบันทันด่วน อยู่ในนาทีชีวิตเป็นตายเท่ากัน ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่น ให้ได้รับความปลอดภัยมากที่สุด โรงพยาบาลต้องเตรียมพร้อมทุกด้านทั้งด้านโครงสร้าง เครื่องมืออุปกรณ์ช่วยชีวิต และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ให้สามารถปฎิบัติงานได้เท่าเทียมกันทั้งประเทศตลอด 24 ชั่วโมงอย่างถูกต้อง และทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ทั่วไป กรณีฉุกเฉิน ตลอดจนในภาวะภัยพิบัติ
ในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้สมบูรณ์แบบและบริการเชื่อมต่อกันได้อย่างรวดเร็ว ได้ดำเนินการทั้ง 3 ระบบ ได้แก่ 1.ระบบการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล เพื่อให้มีหน่วยแพทย์อีเอ็มเอส (Emergency Medical Service) หรือทีมแพทย์กู้ชีพ รุกออกไปช่วยเหลือผู้ป่วยยังที่เกิดเหตุหรือที่บ้าน ผ่านช่องทางการรับแจ้งเหตุจากประชาชนทางหมายเลข 1669 อย่างเป็นเครือข่ายเดียวกันทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าว่าภายในเวลา 10 นาที หลังรับแจ้งเหตุจะสามารถไปถึงที่เกิดเหตุเพื่อปฏิบัติการให้การดูแลรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน และนำส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอย่างเหมาะสมและปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดอันตรายซ้ำสอง ขณะนี้ทั่วประเทศมีชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน 12,000 ชุด โดยเป็นระดับสูงที่มีแพทย์ออกปฎิบัติการประมาณร้อยละ 16 ระดับกลาง ร้อยละ 14 และทีมช่วยเบื้องต้นประมาณร้อยละ 70 ระบบที่ 2.คือ ที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลทุกระดับ เพื่อรับช่วงการดูแลรักษาต่อภายในโรงพยาบาล 3.คือการพัฒนาทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ในภาวะภัยพิบัติทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอ
นายสรวงศ์กล่าวต่อว่าปัญหาใหญ่ที่ทำให้ประสิทธิภาพระบบการแพทย์ฉุกเฉินยังไม่เต็มร้อย คือการขาดบุคลากรทางการแพทย์ในระดับต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินซึ่งจะเป็นแพทย์เฉพาะทางในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินทุกประเภทในลำดับแรกซึ่งจะต้องมีความเชื่อมโยงต่อไปยังแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่นๆที่จำเป็นต่อผู้ป่วยฉุกเฉินแต่ละรายได้อย่างทันท่วงที ข้อมูลจากสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉิน พ.ศ.2556 ทั่วประเทศไทยมีแพทย์สาขานี้ 418 คน ในจำนวนนี้อยู่ในกระทรวงสาธารณสุขเพียง 68 คน ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 70 อยู่โรงพยาบาลศูนย์ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการสร้างเพิ่มขึ้นอีกมาก 10 - 20 เท่าตัว ในปี 2557 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินเป็นสาขาขาดแคลน และร่วมมือกับแพทยสภาในการผลิตอบรม โดยขณะนี้มีสถาบันที่สามารถเปิดให้แพทย์สมัครเข้าเรียนต่อได้ทั้งหมด 19 สถาบัน และสถาบันสมทบ อีก 2 แห่ง
ทางด้านนายแพทย์ไพโรจน์ เครือกาญจนา หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน รพ.ราชวิถี กล่าวว่า จากการวิเคราะห์การป่วยฉุกเฉินของคนไทยขณะนี้พบเกิดขึ้นทุกนาทีเฉลี่ยมากกว่า 40 ราย แนวโน้มส่วนใหญ่จะมาจากโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมอง ตลอดจนภาวะฉุกเฉินต่างๆที่พบเกิดขึ้นในกลุ่มผุ้สูงอายุ ในอนาคตเชื่อว่า น่าจะเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากคนไทยมีผู้ป่วยโรคเรื้อรังมากและผู้สูงอายุมากขึ้น หากให้การรักษาช้าเพียงไม่เกิน 4 นาที ก็อาจจะทำให้ผู้ป่วยเกิดความพิการหรือหมดโอกาสรอดชีวิตได้
ในปี 2557 มีโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่เปิดอบรมแพทย์สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน อาทิ รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน รพ.ชลบุรี รพ.ศูนย์ขอนแก่น รพ.มหาราชนครราชสีมา รพ.หาดใหญ่ และสถาบันสมทบ ได้แก่ รพ.อยุธยา และโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ขณะนี้รวมทั้งหมด 19 สถาบันฝึกอบรมของหลักสูตร 3 ปี สามารถรับได้ปีละประมาณ 98 คน
********************************* 31 กรกฏาคม 255