บ่ายวันนี้ ( 31 กรกฎาคม 2556 ) นายสรวงศ์  เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมอนามัย นายแพทย์นพพร  ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์ธวัชชัย กมลธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงเครือข่ายบริการที่ 6  และเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์  เดินทางไปติดตามผลกระทบด้านสุขภาพอนามัยจากปัญหาน้ำมันดิบรั่วลงทะเล ที่จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556   โดยได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมจุดคัดกรองสุขภาพประชาชนและผู้ปฎิบัติงานตักน้ำมันดิบที่ ท่าเรือ อบจ.  หน่วยรักษาพยาบาลเบื้องต้น และฟังบรรยายสรุปปัญหาการเจ็บป่วยที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเกาะเสม็ด  และตรวจสภาพสิ่งแวดล้อมที่อ่าวพร้าว เพื่อประเมินผลกระทบต่อสภาวะสุขอนามัยของประชาชน  
 
นายสรวงศ์กล่าวว่า  ในการวางแผนดูแลสุขภาพประชาชนจากผลกระทบของน้ำมันดิบรั่วในทะเลครั้งนี้ ในระยะเร่งด่วน กระทรวงสาธารณสุขได้วางระบบไว้ 4 เรื่องหลักๆ ได้แก่  1.การเฝ้าระวังผลกระทบเฉียบพลันจากน้ำมันดิบ โดยตั้งจุดตรวจคัดกรอง และเก็บปัสสาวะของผู้ปฏิบัติงานกู้ภัย ในการตักน้ำมัน และกำจัดคราบน้ำมัน ภายหลังเลิกงานแล้ว  ซึ่งมีทั้งพนักงานของบริษัทปตท. อาสาสมัคร ทหารเรือและประชาชนทั่วไปที่อาศัยในพื้นที่  เพื่อตรวจหาสารทีที มิวโคนิค แอซิด (t-t muconic Acid) ซึ่งเป็นอนุพันธุ์ของสารเบนซีน ซึ่งเป็นสารที่อยู่ในน้ำมันดิบและเข้าสู่ร่างกายจากการสูดดม  หากสะสมในร่างกายเป็นเวลานาน อาจก่อให้เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้   โดยมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์อาชีวอนามัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมือง  โรงพยาบาลมาบตาพุด โรงพยาบาลระยอง   ร่วมดำเนินการ  วานนี้เก็บตรวจจำนวน 209 คน  ประกอบด้วยอาสาสมัคร 36 คน ทหารเรือ  168 คน อสม. 3  คน ที่เหลือเป็นพนักงานบริษัท   จนถึงช่วงบ่ายวันนี้เก็บได้ประมาณ 300 คน  ส่งตรวจวิเคราะห์ที่โรงพยาบาลระยอง ใช้เวลา 5 วัน ค่าปกติสารนี้ในปัสสาวะในคนทำงานต้องมีไม่เกิน 500 ไมโครกรัมต่อกรัมครีเอตินีน 
 
 2.ตั้งหน่วยปฐมพยาบาลที่อ่าวพร้าว  ดูแลรักษาอาการป่วย โดยทีมจากโรงพยาบาลระยอง ร่วมกับหน่วยพยาบาลของบริษัท ปตท.ตลอด 24 ชั่วโมง  3.ตั้งจุดดูแลรักษาผู้ป่วยที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเกาะเสม็ด และ 4.การเฝ้าระวังคุณภาพน้ำทะเล และอาหารทะเล เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยประชาชนผู้บริโภค     โดยในวันนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ชลบุรี ได้เก็บตัวอย่างกุ้ง หอยแมลงภู่ ปู ปลา ในพื้นที่ที่เกิดเหตุน้ำมันรั่ว  รวมทั้งน้ำทะเล เพื่อมาตรวจวิเคราะห์เป็นข้อมูลพื้นฐาน  เนื่องจากในช่วง 1-2 วันนี้ คาดว่าผลกระทบจะยังไม่เกิด และอีก 15 วัน จะเก็บมาตรวจซ้ำ เพื่อวิเคราะห์ความแตกต่างหรือสิ่งผิดปกติ เพื่อติดตามการปนเปื้อนโลหะหนัก รวมทั้งสารพาห์ซึ่งเป็นตัวก่อมะเร็งได้  
 
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารรณสุขกล่าวว่า จากการติดตามผลกระทบต่อสุขภาพ  ขณะนี้มีรายงานผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเกาะเสม็ด 20 ราย ส่วนใหญ่มีอาการปวดศีรษะ   เวียนศีรษะ  ซึ่งมาจากการสูดกลิ่นของน้ำมันดิบเข้าไป  โดยขณะนี้โรงพยาบาลระยองสามารถให้การดูแลผู้ป่วยได้     
 
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อว่า ปัญหาที่น่าห่วง จากการสอบถามผู้ที่ไปดำเนินทำลายคราบน้ำมันและเก็บปัสสาวะส่งตรวจ พบว่า ส่วนหนึ่งไม่ได้ใช้อุปกรณ์ป้องกันการสูด จะต้องมีการติดตามตรวจสุขภาพอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมด้านการแพทย์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และวางแผนจัดระบบโดยให้โรงพยาบาลระยองดูแลอาสาสมัคร อสม.  ในกลุ่มทหารเรือได้ประสานโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ติดตาม ส่วนพนักงานบริษัทได้ประสานให้บริษัทติดตาม  โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเก็บปัสสาวะผู้ปฏิบัติงานหรือประชาชนที่สัมผัสคราบน้ำมันดิบ ส่งตรวจทุกคน  และมอบให้โรงพยาบาลระยองซึ่งเป็นศูนย์อาชีวเวชศาสตร์ ของกระทรวงฯเป็นศูนย์ข้อมูลและเป็นศูนย์กลางในการติดตามดูแลผู้สัมผัสสารอย่างต่อเนื่อง 2-5 ปี   ในวันนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรคนำหน้ากากอนามัยชนิดพิเศษ ป้องการสารเคมีมามอบให้เจ้าหน้าที่ทำงานจำนวน 5,000 ชิ้น และหน้ากากชนิดเอ็น 95 จำนวน 200 ชิ้น  
 
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมควบคุมมลพิษ ได้ส่งทีมฉุกเฉินมาตรวจคุณภาพอากาศในบริเวณอ่าวพร้าว  ข้อมูลเบื้องต้น พบว่า ในระยะห่างจากชายฝั่งประมาณ 200-500 เมตร  หรือในบริเวณที่อยู่อาศัยต่างๆ คุณภาพอากาศยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก  กล่าวคือ ปริมาณสารปนเปื้อนในอากาศสูงกว่าปกติเล็กน้อย   ซึ่งยังอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย
 
สำหรับการจัดระบบติดตาม ในระยะยาว กระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนติดตามสุขภาพประชาชน โดยร่วมมือกับกรมประมง กรมควบคุมมลพิษ เพื่อร่วมติดตามประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะจากห่วงโซ่อาหาร  จึงขอแนะนำให้ประชาชนอย่านำปลาทะเลหรือสัตว์ทะเลที่ตายและถูกคลื่นซัดขึ้นมาที่ชายหาดมารับประทาน  หลีกเลี่ยงการสัมผัสดิน สัตว์น้ำ หรือวัสดุต่างๆที่มีการปนเปื้อน เช่น ลงเล่นน้ำ เล่นกีฬาทางน้ำ หากสัมผัสคราบน้ำมัน ควรรีบล้างด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันที  สำหรับการเข้าไปอยู่อาศัยหรือท่องเที่ยวในบริเวณอ่าวพร้าว ควรงดเว้นจนกว่าการเก็บกวาดคราบน้ำมันจะเสร็จสิ้น   
*********************************** 31 กรกฎาคม 2556


   
   


View 14    01/08/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ