กระทรวงสาธารณสุขส่งยาชุดน้ำท่วม 7,000 ชุด ช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่จังหวัดตากและน่าน และสำรองไว้อีก 300,000 ชุด แนะผู้ป่วยโรคเรื้อรังดูแลตนเองให้มากขึ้นช่วงน้ำท่วม เตรียมยาให้เพียงพออย่างน้อย 1 – 2 เดือน รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุทำให้จมน้ำหรือเกิดบาดแผลที่เท้ารักษาหายยาก โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน หากมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์หรือแจ้งอสม.ใกล้บ้าน
         
วันนี้ (1 สิงหาคม 2556) นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการดูแลผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่า ขณะนี้สภาพน้ำท่วมขยายเป็นบริเวณกว้าง บางพื้นที่น้ำลึก ประชาชนจำนวนมากติดอยู่ในบ้านหรือต้องอพยพมาอาศัยอยู่ในที่สูง ได้รับความยากลำบาก ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้การดูแลอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เบาหวาน โรคลมชัก หากยาหรืออินซูลินใกล้หมด ขอให้แจ้งอสม.ที่อยู่ใกล้ หรือโทรปรึกษาได้ที่หมายเลข 1669 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
         
ในวันนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดส่งยาชุดน้ำท่วมจำนวน 7,000 ชุด ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยให้ที่จังหวัดตาก 2,000 ชุด และที่น่าน 5,000 ชุด โดยได้สำรองไว้ที่ส่วนกลางอีก 300,000 ชุด พร้อมทั้งได้ให้ทุกจังหวัดเตรียมความพร้อมรับมือพายุ เชบี ในวันที่ 2-5 สิงหาคม 2556 อย่างเต็มที่ด้วย  
 
นายสรวงศ์ กล่าวต่อว่า สำหรับที่จังหวัดตาก ได้รับรายงานจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก ว่า ขณะนี้ระดับน้ำที่อ.แม่สอด เริ่มลดลง วันนี้ได้ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 4 ทีม ทีมพร้อมถุงยังชีพ ยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น ออกให้บริการที่ตำบลแม่กุ และตำบลวังตะเคียน มีผู้มาใช้บริการประมาณ 200 ราย ส่วนใหญ่น้ำกัดเท้า มีบาดแผลเนื่องจากถูกของมีคมบาด ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังให้บริการชาวพม่าที่อพยพหนีน้ำท่วมข้ามแม่น้ำเมยมาขออาศัยอยู่ตามวัดหรือบ้านญาติที่ประเทศไทยตามหลักมนุษยธรรมด้วย สำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่กุใหม่ที่ปิดให้บริการ ในวันนี้ระดับน้ำลดลงแล้ว เหลือเพียงน้ำขังบางส่วน คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในวันพรุ่งนี้
 
ด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วงน้ำท่วมขัง มีความเป็นห่วงผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคลมชัก เสี่ยงอาการกำเริบได้ง่าย   ขอให้ดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ประการแรกอย่าเครียด ขอให้ทำใจยอมรับสภาพที่เกิดขึ้น ขอให้พูดคุยกับเพื่อนบ้าน เพื่อระบายทุกข์สุขร่วมกัน พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารทุกมื้อ อย่าอดอาหาร เนื่องจากอาจทำให้ระดับน้ำตาลต่ำ หมดสติได้ หลีกเลี่ยงการลุยน้ำโดยลำพัง หากอาการกำเริบ อาจช่วยเหลือตนเองไม่ได้    และหลีกเลี่ยงเดินลุยน้ำท่วมขังที่เน่าเสีย เพราะอาจทำให้เกิดโรคน้ำกัดเท้าได้ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเบาหวาน ต้องดูแลความสะอาดของเท้าเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจเกิดแผลโดยไม่รู้ตัว เพราะเท้าอาจมีอาการชา   หากเกิดแผล ถูกของมีคมบาด หรือทิ่มตำอาจจะไม่รู้สึกเจ็บ จนแผลติดเชื้อลุกลามภายหลังได้ หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ขอให้สวมรองเท้าบู้ทอย่าให้น้ำเข้าไปในรองเท้า หลังจากลุยน้ำแล้ว ล้างเท้าด้วยน้ำสะอาด เช็ดให้แห้งทุกครั้ง  
 
สิงหาคม/2     **********************************      1     สิงหาคม 2556


   
   


View 12    01/08/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ