กระทรวงสาธารณสุขย้ำเตือนประชาชนทุกคนเสี่ยงต่อการเป็นไข้เลือดออก สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงได้แก่ เด็กเล็ก เด็กอ้วน หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ หากมีไข้สูง กินยาลดไข้แล้วไม่ลดใน 1-2 วัน หรือมีอาการซึม งอแง ไม่สบายตัว ปวดจุกท้องด้านขวา หลังไข้ลด ให้สงสัยอาจป่วยเป็นไข้เลือดออกรุนแรง ให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันทีเพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง ป้องกันการเสียชีวิต
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออก ยังไม่นิ่ง การแพร่พันธุ์ของยุงลายยังคงมีต่อเนื่องอันเป็นผลจากฝนตกชุก ทุกภาคส่วนต้องรณรงค์ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในบ้านและรอบบริเวณบ้าน จากการประชุมวอร์รูมติดตามประเมินสถานการณ์โรคไข้เลือดออกทั่วประเทศ พบว่ากลุ่มผู้ที่เสียชีวิตจากโรคนี้ ส่วนใหญ่จะมีโรคประจำตัว โดยผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรง เมื่อป่วยเป็นไข้เลือดออกได้แก่ เด็กเล็ก เด็กอ้วน หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ หากป่วยเป็นไข้สูง กินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดใน 1-2 วัน ขอให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อการดูแลรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า ในกลุ่มที่กำลังป่วยเป็นไข้เลือดออกและอยู่ในช่วงที่ไข้ลด จะต้องระมัดระวังเฝ้าดูอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด 24-48 ชั่วโมง เนื่องจากผู้ป่วยอาจเกิดอาการรุนแรงหลังไข้ลด โดยให้สังเกตอาการที่เป็นสัญญานของอาการช็อคดังนี้ คือ ผู้ป่วยมีอาการซึม อ่อนเพลีย งอแง ไม่สบายตัว มีอาการปวดจุกแน่นในบริเวณท้องด้านขวา อาจมีเลือดกำเดาออก เลือดออกตามไรฟัน ถ่ายเป็นเลือด หรือเป็นประจำเดือน หากมีอาการหนึ่งอาการใด ขอให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันทีเพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ป้องกันการเสียชีวิต
ด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า วิธีการป้องกันไข้เลือดออกที่ดีที่สุดคือ ประชาชนทุกคนต้องช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในบ้านและรอบบ้าน ป้องกันไม่ให้ยุงกัดด้วยการนอนในมุ้ง ทายากันยุง นอกจากนี้การค้นหาและกำจัดลูกน้ำยุงลายควรทำทุกสัปดาห์ นอกจากที่บ้านแล้วควรรณรงค์ทำที่โรงเรียน ที่ทำงาน โรงพยาบาล ศูนย์การค้าต่างๆ วัด หรือศาสนสถาน โรงแรม รีสอร์ท สวนสาธารณะ โดยเฉพาะขยะที่มีน้ำขังได้เช่น กล่องโฟม ยางรถยนต์ เป็นต้น
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่ออีกว่า อาการของผู้ป่วยมี 3 ระยะที่สำคัญคือ 1.ระยะไข้สูงลอย อุณหภูมิร่างกายประมาณ 39-40 องศาเซลเซียส กินยาลดไข้แล้วไข้มักจะไม่ลด การดูแลให้เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา ไม่ควรใช้น้ำเย็นเช็ดตัวเนื่องจากความเย็นจะทำให้รูขุมขนที่ผิวหนังปิด ความร้อนระบายออกจากร่างกายไม่ได้ 2.ระยะวิกฤติ มักเป็นในช่วงหลังไข้ลด 24-48 ชั่วโมง ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง จะมีอาการซึม อ่อนเพลีย หากเป็นเด็กจะงอแง ไม่สบายตัว อาจมีอาการปวดท้อง จุกท้อง อาการจะคล้ายกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ประชาชนมักจะเข้าใจผิดว่าไข้ลงแล้วจะดีขึ้นจึงไม่ใส่ใจ ดังนั้นหากมีอาการที่กล่าวมา ต้องพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที และแจ้งอาการให้แพทย์ทราบ ระยะที่ 3.คือระยะฟื้นฟู หลังผ่านจากระยะไข้ลดแล้ว ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดอีก 2-3 วัน จนผู้ป่วยอาการดีขึ้น เช่น อาการซึมดีขึ้น กินได้ ไม่งอแง ทั้งนี้สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ล่าสุดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา วันที่ 23-30 กรกฎาคม 2556 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 5,770 ราย เสียชีวิต 5 ราย ผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ 1 มกราคม – 30 กรกฎาคม 2556 มีทั้งหมด 87,533 ราย เสียชีวิต 83 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.09 ของผู้ป่วย โดยมี 10 จังหวัด 113 อำเภอที่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ศรีสะเกษ กทม. สุรินทร์ ตาก บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด ชลบุรี และขอนแก่น เนื่องจากมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น
******************************************* 4 สิงหาคม 2556