“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 136 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยผลการตรวจตัวอย่างอาหารทะเลที่บ้านเพและตำบลแกลง จำนวน 8 ตัวอย่างทั้งหอย ปลาสด ไม่พบปนเปื้อนสารปรอท และสารพีเอเอช ยังรอผลตรวจโลหะหนักอีก 3 รายการคือ ตะกั่ว แคดเมียม สารหนู จะทราบผลทั้งหมดสัปดาห์หน้า ส่วนการเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพผู้ที่เสี่ยงสัมผัสสารในน้ำมันดิบ เก็บปัสสาวะตรวจทั้งหมด 1,522 คน รู้ผลตรวจแล้ว 252 คน ยังไม่พบรายใดผิดปกติ
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าการเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพประชาชน จากปัญหาน้ำมันดิบไหลลงทะเลที่จังหวัดระยองว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งวอร์รูมติดตามสถานการณ์ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง ประชุมผู้เกี่ยวข้องด้านการแพทย์และสาธารณสุข ร่วมกับบริษัทปตท. เพื่อวางแผนเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ และผู้เสี่ยงสัมผัสกับสารที่อยู่ในน้ำมันดิบ การปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมทั้งในอาหารทะเล น้ำบริโภคทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวอย่างรัดกุม ดูแลความปลอดภัยแก่ประชาชนอย่างเต็มที่
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวว่า จากการเก็บตัวอย่างอาหารทะเลประเภทหอย แมลงภู่สด ปลาสด จำนวน 8 ตัวอย่างจากตลาดเพ และตำบลแกลง ส่งตรวจหาสารโพลีไซคลิคอะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน หรือสารพีเอเอช (PAH: Polycyclic Aromatic Hydrocarbon) และโลหะปนเปื้อน 4 รายการ ได้แก่ สารปรอท ตะกั่ว แคดเมียม และสารหนู ขณะนี้ทราบผล 2 รายการ คือ 1.สารพีเอเอช ไม่พบทุกตัวอย่าง 2. สารปรอท ไม่พบในหอย ส่วนในปลาพบระหว่าง 0.019-0.203 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ไม่เกินมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 98 พ.ศ.2529 ที่กำหนดให้อาหารทะเลมีปริมาณปรอทได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สารปรอทที่ตรวจพบในปลาทะเลนี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เนื่องจากสามารถพบได้ในธรรมชาติและปนเปื้อนในอาหารได้อยู่แล้ว แม้ว่าจะไม่มีเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วลงทะเลก็ตาม ส่วนที่เหลืออีก 3 รายการคือ ตะกั่ว แคดเมียม สารหนู รวมทั้งน้ำบริโภคอยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะทราบผลทั้งหมดภายในสัปดาห์หน้า
สำหรับผลการเฝ้าระวังการสัมผัสสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะสารอนุพันธ์ของเบนซีน หรือสารที-ที มิวโคนิก แอซิด ในปัสสาวะ (t-t muconic acid in urine) ในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ปฏิบัติงานเก็บ ทำลายคราบน้ำมันดิบทุกคน ประชาชนในพื้นที่ และบุคคลอื่นๆ เช่น สื่อมวลชน อาสาสมัคร ผู้บริหาร ที่เข้าไปในพื้นที่อ่าวพร้าว ขณะนี้ได้เก็บปัสสาวะตรวจแล้ว 1,522 คน ทราบผลแล้ว 252 คน พบว่าค่าไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนดทุกตัวอย่าง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ขึ้นทะเบียน วางแผนติดตามตรวจสุขภาพต่อเนื่องในอีก 1 ปี และทุก 5 ปีทุกราย และหากรายใดที่มีค่าเกินค่ามาตรฐาน ก็จะตรวจเลือด วิเคราะห์การทำงานของตับไตต่อไป
นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวต่อไปว่า ผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ซึ่งมีหน่วยปฐมพยาบาล ปฎิบัติงานดูแลที่อ่าวพร้าวต่อเนื่องทุกวัน จนถึงวันนี้ ให้บริการตรวจรักษารวม 414 ราย พบอาการที่เกี่ยวข้องกับสารเบนซีน เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ เจ็บคอ ผื่นคัน รวม 190 ราย ส่วนด้านสุขภาพจิตพบบางส่วนมีความวิตกกังวล นอนไม่หลับบ้าง ซึ่งเป็นอาการที่พบได้ทั่วไปหลังเหตุการณ์ ได้ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ และอสม. เฝ้าระวังดูแลช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องต่อไป 2 สัปดาห์
*************************************** 4 สิงหาคม 2556