นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายรณรงค์การปกป้อง ส่งเสริม สนับสนุนให้แม่หลังคลอด ที่มีประมาณปีละ 8 แสนราย เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือนให้ได้ร้อยละ 60 ภายในพ.ศ.2558   โดยมีนโยบายให้โรงพยาบาลทุกระดับทั้งในสังกัดและนอกสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขเป็นพื้นที่ปลอดนมผง 

จากข้อมูลจากกรมอนามัยในปี 2555 หญิงหลังคลอดทั่วประเทศที่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว โดยไม่ให้ น้ำ ของเหลว หรืออาหารอื่น ก่อนลูกมีอายุครบ 6 เดือนเต็มหรือ 180 วัน เพียงร้อยละ 48 ซึ่งยังห่างจากเป้าหมายในปี พ.ศ.2558 ค่อนข้างมาก จึงเน้นให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลซึ่งมี 9,750 แห่ง ร่วมกับ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ อสม.ที่มีกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศ รณรงค์ให้หญิงทุกคนฝากครรภ์ก่อนอายุครรภ์ครบ 12 สัปดาห์ เพื่อให้ทารกในครรภ์ได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพ มีน้ำหนักแรกเกิดตั้งแต่ 2,500 กรัมขึ้นไป มารดาสามรถคลอดลูกอย่างปลอดภัยเพื่อเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมอย่างเดียวโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ในการดำเนินงานให้ถึงเป้าหมายพื้นที่ปลอดนมผง   โรงพยาบาลต้องช่วยให้แม่ทุกคนมีน้ำนมมาเร็ว โดยกระตุ้นให้แม่เริ่มโอบกอดลูกเนื้อแนบเนื้อและให้ลูกดูดนมครั้งแรกภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด และช่วยให้แม่มีน้ำนมอย่างเพียงพอกับความต้องการของลูก ก่อนจำหน่ายคู่แม่ลูกออกจากโรงพยาบาล ลูกควรได้ดูดนมแม่บ่อยครั้งตามความต้องการ 8-12 ครั้งต่อวัน ยิ่งให้ลูกดูดนมและแม่ขยันบีบนมบ่อยๆ น้ำนมแม่ยิ่งสร้างและหลั่งมากขึ้นตามการไหลของน้ำนม
นายสรวงศ์ กล่าวย้ำถึงกลุ่มแม่ที่ต้องทำงาน ว่าสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างต่อเนื่องขณะไปทำงาน โดยใช้วิธีง่ายๆ คือให้บีบนมน้ำนมแม่ใส่ถุงเก็บน้ำนมไว้ให้ลูกขณะไปทำงาน น้ำนมแม่ที่ให้ลูกวันต่อวันสามารถแช่ในช่องตู้เย็นธรรมดาได้นาน 2-3วัน ถ้าต้องการเก็บนมแม่ไว้ใช้ระยะยาว ควรนำนมแม่ที่บีบไว้อย่างปลอดภัย ไปแช่ช่องแช่แข็งในตู้เย็นชนิด 2 ประตู  จะสามารถเก็บน้ำนมได้นานถึง 3 เดือน ถ้าใช้ตู้เย็นแช่แข็งที่มีอุณหภูมิต่ำถึงลบ20 องศาเซลเซียส จะสามารถเก็บน้ำนมแม่ได้นานถึง 6 เดือน โดยน้ำนมแม่ยังคงคุณค่าสารอาหารเช่นเดียวกับนมที่ลูกดูดจากเต้าโดยตรง
กระทรวงสาธารณสุขยืนยันนโยบายสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือนและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร่วมกับอาหารตามวัยจนถึงขวบปีที่ 2 หรือนานกว่านั้นตามองค์การอนามัยโลก  เนื่องจากมีหลายงานวิจัยทั้งต่างประเทศและในประเทศที่สนับสนุนว่า มารดาและทารกได้รับประโยชน์ด้านสุขภาพอย่างมากมาย โดยเฉพาะผลงานวิจัยของศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักส่งเสริมสุขภาพแห่งชาติเมื่อ พ.ศ.2551-2553 ได้ติดตามผลด้านสุขภาพของเด็กไทยที่กินนมแม่อย่างเดียวติดต่อกัน 6 เดือน ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงอายุ 2 ขวบและได้นำเสนอในการประชุมนมแม่แห่งชาติเมื่อเดือนมิถุนายน 2556 
ทางด้านรองศาสตราจารย์แพทย์หญิงกุสุมา ชูศิลป์ กรรมการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ได้นำเสนอผลการดำเนินงานของโรงพยาบาล 11 แห่งที่ร่วมวิจัยในทุกภาคของประเทศไทย พบว่าอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวลดจากร้อยละ 94.9 ในช่วงสัปดาห์แรกหลังเกิด เป็นร้อยละ 39.6  เมื่อทารกอายุ 6 เดือนเต็ม
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนป้องกันการเจ็บป่วยในเด็กได้หลายโรค โดยเมื่ออายุ 6 เดือนทารกที่ได้รับนมแม่อย่างเคียว มีอาการไข้น้อยที่สุดเพียงร้อยละ 26.9 เมื่อเทียบกับทารกที่ได้รับนมผสมอย่างเดียวร้อยละ 30.8 ได้นมแม่และน้ำร้อยละ38.4 ได้นมแม่และนมผสมร้อยละ 45.1 และได้นมผสมร่วมกับอาหารอื่นร้อยละ 51.2 โรคที่ลดลงได้อย่างชัดเจน ได้แก่ โรคท้องเสีย และโรคผื่นแพ้ที่ผิวหนัง
เมื่ออายุ 2 ขวบ ทารกที่เคยได้รับนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน มีอัตราเจ็บป่วยด้วยโรคท้องเสียน้อยที่สุด เพียงร้อยละ 1.3 ในขณะที่ทารกที่ได้รับนมแม่ร่วมกับน้ำร้อยละ 10.8 และนมแม่ร่วมกับนมผสมร้อยละ 19.0 ป่วยด้วยโรคท้องเสียประมาณ 10 - 20 เท่าของทารกที่ได้รับนมแม่อย่างเดียว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าภูมิคุ้มกันโรคจากน้ำนมแม่ สามารถปกป้องกันทารกไม่ให้ป่วยจากโรคติดเชื้อได้นานถึง 2 ขวบ หรือมากกว่านั้น
          รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงกุสุมา กล่าวต่อว่า อาการของภาวะภูมิแพ้ที่พบบ่อยในช่วง 6 เดือนแรกหลังเกิด พบว่าทารกที่มีโอกาสเกิดน้อยที่สุดคือทารกที่ได้รับนมแม่อย่างเดียวเมื่ออายุ 2 เดือน ร้อยละ4.0  อายุ 4 เดือนร้อยละ 4.5  อายุ 6 เดือนร้อยละ 2.7 และอายุ 24 เดือนร้อยละ 3.4  ส่วนทารกที่ได้รับนมแม่ร่วมกับน้ำมีโอกาสเกิดภาวะภูมิแพ้สูงที่สุดเมื่ออายุ 24 เดือน ร้อยละ5.1  ทารกที่เป็นผื่นแพ้ผิวหนังมักจะมีโอกาสเป็นโรคหืดตามมาด้วยเมื่อเด็กโตขึ้น  
อย่างไรก็ตาม หลัง 6 เดือนควรให้เด็กกินนมแม่อย่างน้อยจนอายุ 1 ขวบ โดยกินควบคู่กับอาหารอื่น เพื่อป้องกันภาวะขาดสารอาหาร โดยสามารถดูได้จากสมุดบันทึกสุขภาพและเด็กที่ได้รับจากสถานพยาบาลตั้งแต่เริ่มฝากครรภ์ การกินนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน จะช่วยป้องกันภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์ หรือป้องกันโรคอ้วนในเด็ก ได้ผล และป้องกันน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ได้    โดยเมื่ออายุ 24 เดือน เด็กที่กินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน น้ำหนักเกินเกณฑ์ร้อยละ 4 ขณะที่เด็กที่กินนมผสม อัตราน้ำหนักเกินร้อยละ 6 
ส่วนในเรื่องของพัฒนาการเด็ก จากการติดตามทดสอบพบว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ กระตุ้มการเริ่มพฤติกรรมในสัดส่วนสูงสุด เช่น การยกหัวสูงจากพื้น 90 องศา ร้อยละ 52 เมื่ออายุ 2 เดือน การพลิกตัวจากคว่ำเป็นหงายร้อยละ 75 เมื่ออายุ 4 เดือน การคว้าจับวัตถุโดยใช้นิ้วชี้ และหัวแม่มือร้อยละ 62 เมื่ออายุ 6 เดือน  และการกระโดด 2 ขา ชิดกันร้อยละ 68  เมื่ออายุ 24 เดือน
 
 *************************************** 12 สิงหาคม 2556


   
   


View 13    12/08/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ