โรงพยาบาลปัตตานี พัฒนาระบบการดูแลสุขภาพมารดาและทารกเกิดก่อนกำหนด โดยจัดทำมาตรฐานการดูแลเป็นเครือข่ายทั้งจังหวัด และตั้งศูนย์ดูแลและส่งต่ออย่างรวดเร็วในโรงพยาบาลชุมชน 4 แห่งได้แก่ รพ.โคกโพธิ์ รพ.ยะรัง รพ.ยะหริ่ง และรพ.สมเด็จพระยุพราชสายบุรี ผลการดำเนินงานในปี 2556 พบสามารถลดอัตราคลอดก่อนกำหนดจากเดิมร้อยละ 9.13 ในปี 2555 เหลือร้อยละ 8.88 ยับยั้งการคลอดก่อนกำหนดสำเร็จเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 79.36 เด็กทารกเกิดก่อนกำหนดน้ำหนักตัวน้อยกว่า 1,000 กรัมมีอัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น 

            วันนี้ (27 สิงหาคม 2556) เวลา 12.25น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จทรงติดตามผลการดำเนินงานโครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารกเพื่อครอบครัวของเด็กและเยาวชนไทย ในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ณ โรงพยาบาล (รพ.) ปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี โดยมี นายสุรชัย เบ้าจรรยา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผศ.นพ.วิศิษฐ์ วามวณิช รองประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารกในพระอุปถัมภ์ฯ เฝ้ารับเสด็จ ในการนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ทรงกดปุ่มเปิดผ้าแพรคลุมป้ายห้องคลอด และเสด็จทอดพระเนตรห้องดูแลการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด ห้องรอคลอด หออภิบาลทารกแรกเกิดระยะวิกฤต
 
               แพทย์หญิงพรจิต ประพิณวณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปัตตานี กราบทูลรายงานว่า ปัตตานีเป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้มีประชากร 667,351 คน ส่วนใหญ่ร้อยละ 87.25 นับถือศาสนาอิสลาม ในปี 2555 มีหญิงคลอดบุตรทั้งหมด 12,000 ราย ในจำนวนนี้ร้อยละ 6.19 เป็นการคลอดก่อนกำหนดคือคลอดก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ หรือพบปีละ 743 ราย โดยพบในรพ.ปัตตานีร้อยละ 9.13 เด็กที่คลอดก่อนกำหนดเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง เนื่องจากปอดยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ผิวหนังบอบบาง การรักษาอุณหภูมิร่างกายของผิวหนังไม่ดีเท่าที่ควร
 
                  รพ.ปัตตานี ได้เข้าร่วมโครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารก เพื่อครอบครัวของเด็กและเยาวชนไทยในพระอุปถัมภ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2554 โดยได้จัดอบรมแพทย์พยาบาลในโรงพยาบาลชุมชน 11 แห่งในจังหวัดปัตตานี เริ่มตั้งแต่การให้คำปรึกษาระยะก่อนตั้งครรภ์ ระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอดและหลังคลอด ให้ความรู้แกนนำชุมชน ผู้นำศาสนา อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จัดทำแบบคัดกรองหญิงตั้งครรภ์ที่เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด เช่น วัยรุ่น  มารดามีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ไทรอยด์เป็นพิษ จัดตู้อบเด็กให้โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง และตั้งเครือข่ายดูแลหญิงคลอดก่อนกำหนดในโรงพยาบาลชุมชน 4 แห่ง ได้แก่ รพ.โคกโพธิ์ รพ.ยะรัง รพ.ยะหริ่ง และรพ.สมเด็จพระยุพราชสายบุรี เพิ่มความคล่องตัวการส่งเด็กเกิดก่อนกำหนดจากโรงพยาบาลชุมชนไปที่หอผู้ป่วยเด็กวิกฤตของรพ.ปัตตานีโดยตรง      
 
                   จากการประเมินผลการดำเนินงานในปี 2556 พบว่าได้ผลดี อัตราการคลอดก่อนกำหนดในรพ.ปัตตานี มีแนวโน้มลดลงเหลือร้อยละ 8.88 อัตราการยับยั้งการคลอดก่อนกำหนดสำเร็จเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 46.34 ในปี 2554 เป็นร้อยละ 79.36 ในปี 2556  อัตราทารกเกิดก่อนกำหนดที่ต้องได้รับการดูแลในหออภิบาลทารกแรกเกิดวิกฤตลดลงจากร้อยละ 4.69 ในปี 2554  เหลือร้อยละ 3.42 ในปี 2556 และอัตรารอดชีวิตของทารกเกิดก่อนกำหนดน้ำหนักน้อยกว่า 1,000 กรัมในปี 2556 มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยได้เฝ้าติดตามทารกเกิดก่อนกำหนดโดยใช้ระบบผู้จัดการพยาบาลรายกรณีจนถึงอายุ 5 ปี      
******************************** 27 สิงหาคม 2556


   
   


View 12    27/08/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ