กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนผู้ประกอบการผลิตถุงมือยางใช้ในทางการแพทย์ด้วยน้ำยางพารา เพื่อใช้เองในประเทศและการส่งออกตลาดโลก รวมทั้งวิจัยพัฒนาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากยางพารา หวังอีก 5  ปีจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ 50,000 ล้านบาท เพิ่มปริมาณใช้ยางน้ำยางดิบปีละ 5 แสนตัน

นายแพทย์ประดิษฐ  สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบาย สนับสนุนผู้ประกอบการผลิตเครื่องมือแพทย์ประเภทถุงมือยางใช้ตรวจโรค และถุงมือที่ใช้ในการผ่าตัดในโรงพยาบาล โดยใช้น้ำยางพาราเป็นวัตถุดิบในการผลิตให้มากขึ้น  ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการใช้น้ำยางดิบในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลดีต่อเกษตรกรผู้ปลูก โดยมอบให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งดูแลด้านมาตรฐานเครื่องมือดังกล่าวเป็นหน่วยงานหลัก
นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข จะเร่งดำเนินการส่งเสริมผู้ประกอบการในการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ยางพาราของไทย ดังนี้ 1.รณรงค์ให้มีการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากน้ำยางให้มากขึ้น เช่น รณรงค์ให้ประชาชนใช้ถุงมือยางที่ผลิตจากน้ำยางธรรมชาติ โดยเฉพาะผู้ประกอบการด้านอาหาร เพื่อลดการสัมผัสอาหารด้วยมือเปล่า เพิ่มความปลอดภัยจากโรคระบบทางเดินอาหาร  2.การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากยางพารา โดยจะส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัยและพัฒนาการผลิต เพื่อเพิ่มมูลค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์จากยางพารา ลดการนำเข้า ส่งเสริมการส่งออก เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ถุงมือทางการแพทย์ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ลดการแพ้โปรตีนจากน้ำยาง แผ่นปิดแผลเน้นการเพิ่มความชุ่มชื้น ไม่ติดผิวหนังและมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย รวมทั้งการผลิตเพื่อใช้ทดแทนการใช้เครื่องมือแพทย์ที่ทำจากวัสดุอื่น เช่น สายสวนปัสสาวะ สายให้อาหาร  สายน้ำเกลือ  ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ใช้บ่อยมาก นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่พัฒนาจากน้ำยางพาราได้อีกเช่น ที่นอนผู้ป่วย รองเท้าเพื่อสุขภาพ รองเท้าทางการแพทย์ เป็นต้น
ทั้งนี้ จะเสนอรัฐบาลสนับสนุนด้านการลงทุนให้แก่ผู้ผลิตถุงมือทางการแพทย์ในประเทศ  ซึ่งส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและมีเงินทุนน้อย เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันในตลาด โลก  คาดว่าจะเพิ่มมูลค่าการส่งออกถุงมือสำหรับใช้ตรวจโรคจาก 20,000 ล้านบาท  เป็น 50,000 ล้านบาทต่อปี ภายในระยะเวลา 5 ปีและเพิ่มปริมาณการใช้น้ำยางดิบเป็นประมาณ 5 แสนตันต่อปีภายในระยะเวลา 5 ปีด้วย
ด้าน นายแพทย์บุญชัย  สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า อย. ได้ปรับแนวทางควบคุมถุงมือสำหรับการตรวจโรคจากเดิมที่กำหนดเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ต้องได้รับอนุญาต ให้เป็นเครื่องมือแพทย์ทั่วไป แต่ยังคงมาตรฐานเหมือนเดิม มีผลใช้บังคับ 26 ธันวาคม 2555 โดยตัดขั้นตอนในการขออนุญาตที่ใช้เวลาประมาณไม่น้อยกว่า 25 วันทำการออกทำให้ผู้ประกอบการผลิตในประเทศ ซึ่งมีประมาณ 30 รายทั่วประเทศ ผลิตถุงมือออกมาจำหน่ายได้รวดเร็วขึ้น ปัจจุบันเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผลิตมาจากน้ำยางดิบซึ่งมีปริมาณการผลิตสูงได้แก่ถุงมือสำหรับการตรวจโรคถุงมือสำหรับการทำผ่าตัดและถุงยางอนามัย  ในปี 2554 และ 2555 มีมูลค่าการส่งออกของถุงมือยางสำหรับการศัลยกรรม 5,742  ล้านบาท และ 7,139 ล้านบาทตามลำดับ
                                     *******************************   31 สิงหาคม 2556
 


   
   


View 9    31/08/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ