รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งแก้ไขปัญหาการเข้าถึงบริการของกลุ่มแม่และเด็ก โดยเร่งให้หญิงตั้งครรภ์ฝากครรภ์เร็วขึ้น และได้รับการดูแลตามมาตรฐานก่อนคลอดในโครงการฝากท้องได้ทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ์ ทั้ง 3 กองทุน ส่วนหญิงต่างด้าวให้ซื้อบัตรประกันสุขภาพในอัตรา 2,200 บาทต่อคนต่อปี และค่าตรวจสุขภาพอีก 600 บาท ส่วนเด็กซื้อในอัตรา 365 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งจะได้รับวัคซีนป้องกันโรคตามจำเป็น พร้อมทั้งเร่งสร้างระบบสุขภาพตามแนวชายแดนร่วมกับองค์กรนานาชาติ และประเทศเพื่อนบ้าน
 
             นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ให้สัมภาษณ์ภายหลังบรรยายพิเศษเรื่อง สุขภาวะของเด็กไทย ในอนาคต : มุมมองเชิงนโยบาย ในงานประชุมวิชาการของโรงพยาบาลรามาธิบดี กทม. เมื่อเช้าวันนี้ ( 2 กันยายน 2556) ว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลมีนโยบายให้การดูแลสุขภาพประชาชนตามกลุ่มรายอายุ 4 กลุ่ม ได้แก่ 0-5 ปี อายุ 6-20 ปี อายุ 21-60 ปี และ60 ปีขึ้นไป เช่น เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ตั้งเป้าพัฒนาให้เจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ มีพัฒนาการสมวัย กลุ่มอายุ 21-60 ปี เน้นการมีสุขภาพดี ส่วนอายุ 60 ปี ดูแลสุขภาพก่อนถึงวาระสุดท้ายชีวิต  
 
              โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเน้นใช้ 3 กลยุทธ์ได้แก่ การเข้าถึงบริการ คุณภาพบริการ และการบูรณาการดูแลร่วมกับหน่วยงานอื่น  ปัญหาที่พบขณะนี้คือการเข้าถึงบริการ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและแม่ พบว่าแม่ฝากครรภ์ช้า ทำให้เด็กในครรภ์ขาดโอกาสการพัฒนา สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดมาจากความไม่เข้าใจ หรือเข้าใจการใช้สิทธิ์ไม่ถูกต้อง นายกรัฐมนตรีจึงมีนโยบายให้หญิงตั้งครรภ์สามารถฝากท้องได้ทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ ซึ่งขณะนี้ได้พัฒนาระบบสารสนเทศสามารถใช้เชื่อมโยงกันได้ทุกแห่ง และพัฒนาศูนย์เด็กเล็กปลอดโรค รองรับการดูแลเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ร่วมกับกระทรวงอื่นๆ นอกจากนี้ในกลุ่มของหญิงต่างด้าวที่ตั้งครรภ์และเข้ามาทำงาน หรือติดตามสามีเข้ามา กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ซื้อบัตรประกันสุขภาพราคา 2,200 บาท และค่าตรวจสุขภาพอีก 600บาท รวม 2,800บาท ส่วนลูกหลังคลอดจะต้องซื้อบัตรประกันสุขภาพในอัตรา 365 บาทต่อคนต่อปี
 
           ส่วนเรื่องคุณภาพบริการ ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับเกณฑ์มาตรฐานระบบการฝากครรภ์ มีการจัดทำตัวชี้วัดทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ เช่น ต้องฝากครรภ์อย่างน้อย 5 ครั้ง ให้วัคซีนให้ครอบคลุมประชาชนที่จำเป็นต้องได้ทุกคน ทั้งคนไทยและต่างด้าว เช่น หากมี 10 ล้านคน ก็ต้องฉีดให้ได้ 10 ล้านคน เพื่อผลในการป้องกันโรคติดต่อในอนาคต   สำหรับการจัดระบบการดูแลต่างด้าว โดยเฉพาะตามแนวชายแดน เช่นที่ อ.แม่ระมาด จ.ตาก มีประชากรไทย 50,000 แต่มีประชากรแฝงเป็นพม่าอีก 100,000 คน คิวตรวจพม่ามากกว่าคนไทย กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายพัฒนาระบบการสาธารณสุขแนวชายแดนร่วมกับองค์กรนานาชาติ และประเทศเพื่อนบ้าน มีขั้นตอนการพัฒนา  3 ขั้น
 
            ขั้นแรกคือ การสร้างระบบบริการสุขภาพ และพัฒนาบุคลากร โดยรับบุคลากรสาธารณสุขจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าทำงานในโรงพยาบาลแนวชายแดนไทย โดยได้รับใบอนุญาตชั่วคราว และมีสิทธิ์รับการพัฒนาศักยภาพต่อในไทย ขั้นที่  2 สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยสร้างหน่วยบริการปฐมภูมิในประเทศเพื่อนบ้านตลอดแนวชายแดนไทย ระบบส่งต่อในชุมชน และโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิ หน่วยบริการปฐมภูมิรับผิดชอบดูแล ทั้งการควบคุมโรค เอชไอวี เอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และการดูแลรักษาขั้นพื้นฐาน และขั้นที่  3 ระบุสิทธิประโยชน์หลักและพัฒนารูปแบบระบบการเงินด้านสุขภาพ เพื่อเริ่มต้นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยไทยพร้อมจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลังด้านสุขภาพร่วมทำงานกับประเทศเพื่อนบ้านและองค์กรนานาชาติเพื่อให้ได้รูปแบบหลักประกันสุขภาพที่เหมาะสม
 **********************************  2  กันยายน  2556


   
   


View 14    02/09/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ