วันนี้ (5 กันยายน 2556) ที่ทำเนียบรัฐบาล กทม. นายแพทย์ประดิษฐ  สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงผลการประชุมหารือเรื่องการดำเนินงานแรงงานต่างด้าว ผู้ติดตามและบุตรที่เหมาะสมของประเทศไทย โดยมีนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นประธานในการปรึกษาหารือครั้งนี้ 

นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวว่า จุดประสงค์ในการดำเนินงานเรื่องนี้  เนื่องจากนายกรัฐมนตรีมีความกังวลเรื่องแรงงานต่างด้าว อยากให้มีการดูแลปัญหาแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ เป็นไปตามที่ได้ดำเนินการไว้กับองค์กรนานาชาติ เรื่องปฏิญญา เรื่องหลักมนุษยธรรม จากการประชุมหารือกันทุกคนเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นปัญหาการค้ามนุษย์  ยาเสพติด อาชญากรรม ปัญหาสาธารณสุขเรื่องโรคต่างๆ อีกทั้งมีการมาใช้ทรัพยากรในประเทศ เกิดมาจากปัญหาที่ทุกคนยอมรับคือคนเหล่านี้เข้ามาอยู่ในประเทศในสถานภาพที่ยังไม่ถูกต้อง  ต้องหลบซ่อนตัว  ซึ่งรัฐบาลตระหนักและเข้าใจว่ามีแรงงานต่างด้าวอยู่ถึง 2-3 ล้านคน ถ้าไม่ดูแลอย่างเป็นระบบและถูกต้อง จะเกิดปัญหาของทั้ง 2 ฝ่าย และเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามหลักมนุษยธรรม
นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวต่อว่า จากการหารือ ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า หัวใจหลักที่จะเข้าไปดูแลคนกลุ่มนี้คือต้องทำให้คนเหล่านี้ออกมาแสดงตัวข้างนอก เพื่อให้เราเข้าไปให้การบริการดูแลได้  กลไกที่จะเข้าไปดูแลคือทำอย่างไรจะออกมาพิสูจน์สิทธิได้ง่าย ลงทะเบียนง่าย อุปสรรคน้อยลง รวมทั้งค่าใช้จ่ายและความสะดวกสบายอื่นๆ ที่ประชุมมีข้อสรุปว่า จะตั้งคณะทำงาน 4 กลุ่มคือ 1.กลุ่มที่เข้าไปดูแลผลที่เกิดจากปัญหา ของการเข้ามาทำงานในประเทศรวมทั้งผู้ติดตามที่เกิดขึ้นมา และแนวทางแก้ปัญหา  เช่น การค้ามนุษย์ ค้าแรงงาน ปัญหานายหน้าค้ามนุษย์ โดยมอบกระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 
                      
2.กลุ่มการประชาสัมพันธ์  ที่ประชุมเห็นว่าปัญหาอุปสรรคที่ทำให้แรงงานต่างด้าวไม่มาลงทะเบียนถูกต้อง คือขาดการประชาสัมพันธ์สื่อสาร สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากการมาลงทะเบียนที่ถูกต้อง  รวมทั้งตัวนายจ้างต้องมีแรงจูงใจ ในการผลักดันให้ลูกจ้างมาลงทะเบียน   ภาคประชาชน เอ็นจีโอ รวมทั้งองค์กรนานาชาติ และภาคราชการ ต้องเข้ามาร่วมมือกัน มีกลยุทธ์สื่อสารให้มาลงทะเบียนกับหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้น กระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่ในฐานะผู้ให้บริการร่วมกับมหาดไทย โดยองค์กรนานาชาติสนับสนุนทรัพยากรในการประชาสัมพันธ์ด้วย 3.กลุ่มความร่วมมือนานาชาติ จะวางแผนสนับสนุนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาเรื่องแรงงานต่างด้าว ทั้งทรัพยากรและวิชาการ มอบให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นแกนหลัก  4.กลุ่มการบริหารจัดการ จัดรูปแบบการลงทะเบียนพิสูจน์สัญชาติ โดยให้กระบวนการง่าย คล่องตัว เสียค่าใช้จ่ายไม่แพง เพื่อสร้างแรงจูงใจให้มาลงทะเบียนทั้งตัวแรงงานและนายจ้าง
 
ทั้งนี้ จะดำเนินการแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า กัมพูชา และลาวเท่านั้น ไม่รวมถึงแรงงานที่หลบหนีเข้าประเทศอื่น ๆ อย่างผิดกฎหมาย เป็นเรื่องของคนกลุ่มใหญ่ที่เข้ามาทำงานในประเทศ  และไม่รวมคนต่างด้าวที่เดินเข้า-ออกตามพรมแดน โดยมีการทำงานร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการสร้างหลักประกันสุขภาพ เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาสาธารณสุขเฉพาะที่ชายแดน  ทั้งหมดนี้จะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน ก็จะเห็นเป็นรูปธรรม  โดยวันนี้ได้แนวคิดกลยุทธ์หลักในการดูแล ทำให้ต่างด้าวมาลงทะเบียนง่าย คัดกรองได้ง่าย โดยในวันนี้ การองค์กรนานาชาติ ได้ยินดีและให้ความร่วมมือทั้งองค์กรในเครือสหประชาชาติ  องค์การอนามัยโลก  ยูนิเชฟ  องค์กรดูแลผู้อพยพ ซึ่งทำงานร่วมกันอยู่แล้ว  ก็จะทำงานร่วมกันมากขึ้นในเรื่องการดูแลแรงงานต่างด้าวและผู้ติดตาม    
****************** 5 กันยายน 2556
 


   
   


View 12    05/09/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ