กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย จัดซ้อมแผนผู้บริหารระดับสูง 11 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดของโรคติดเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2012 ทั้งด้านการประสานสั่งการระหว่างหน่วยงาน การบริหารทรัพยากร การสื่อสารสร้างความเข้าใจประชาชน เผยขณะนี้ไทยยังไม่พบผู้ป่วย แต่มีความเสี่ยงเกิดการระบาดได้  ในรอบ 14 เดือนทั่วโลกพบผู้ป่วยแล้ว 108 รายใน 9 ประเทศเสียชีวิต 50 ราย  

           เช้าวันนี้ (6 กันยายน 2556) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายสุรชัย  เบ้าจรรยา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข และคณะ แถลงข่าวการฝึกซ้อมแผนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 ระดับชาติ ว่า ในวันนี้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงมหาดไทย จัดฝึกซ้อมแผนระดับชาติเพื่อเตรียมความพร้อมผู้บริหารระดับสูงจาก 11 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สาธารณสุข เกษตรและสหกรณ์ มหาดไทย ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่างประเทศ คมนาคม ศึกษาธิการ ท่องเที่ยวและกีฬา กรมประชาสัมพันธ์ และสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ประมาณ 200 คน เพื่อรับมือการระบาดของโรคติดเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2012 หรือโรคเมิร์ส-คอฟ (Middle East Respiratory Syndrome Corona virus : MERS-CoV) โดยสมมุติสถานการณ์การระบาดในประเทศที่มีความรุนแรง เริ่มจากมีการติดเชื้อในคนและตรวจพบเชื้อในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เชื้อแพร่กระจายในวงกว้าง และกระจายไปทั่วโลก เป็นการฝึกซ้อมแผนชนิดฝึกปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ สร้างความพร้อมกลไกการประสานสั่งการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การบริหารจัดการทรัพยากร การสื่อสารระหว่างหน่วยงานและประชาชนในภาวะวิกฤติ       

          โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012 เกิดจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในคนและสัตว์ มีความรุนแรงสูง ยังไม่มีวัคซีนป้องกันและยารักษาเฉพาะ เริ่มพบในคนครั้งแรกในเดือนเมษายน พ.ศ. 2555 โดยผู้ป่วยมีประวัติเดินทางไปในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และสมาชิกในครอบครัวเดียวกันที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย จนถึงขณะนี้ยังหาสาเหตุการเกิดโรคไม่ได้ ยังไม่พบหลักฐานการติดต่อจากคนสู่คน องค์การอนามัยโลกรายงานล่าสุดจนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2556 รวม 14 เดือน ทั่วโลกพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ 108 ราย เสียชีวิต 50 ราย ใน 9 ประเทศและยังอยู่ในวงจำกัด ได้แก่ จอร์แดน ซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมันนี ตูนีเซีย และอิตาลี อัตราเสียชีวิตร้อยละ 46  สำหรับประเทศไทย แม้จะยังไม่พบผู้ป่วยโรคนี้ก็ตาม แต่มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคนี้ในประเทศได้ จากการเดินทางท่องเที่ยว ทำงาน หรือประกอบพิธีฮัจญ์ในพื้นที่ตะวันออกกลาง จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยให้สามารถรับมือได้ หากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง เพื่อป้องกันและลดความสูญเสียให้ได้มากที่สุด ทั้งชีวิตประชาชน เศรษฐกิจ และด้านสังคม   

          นายสุรชัยกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ติดตามสถานการณ์ ประเมินความเสี่ยงโรคนี้อย่างใกล้ชิดร่วมกับผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัย องค์การอนามัยโลก และศูนย์ควบคุมโรคติดเชื้อของสหรัฐอเมริกามาโดยตลอด ขณะนี้ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง และขอความร่วมมือกรุงเทพมหานคร จัดระบบการเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคติดเชื้อโคโรน่าไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2012 ควบคู่กับโรคไข้หวัดใหญ่ และไข้หวัดนกทั้ง 2 ชนิดคือเอช 7 เอ็น 9 (H7N9) และชนิดเอช 5 เอ็น 1 (H5N1) ในโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน จัดห้องแยกดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจรุนแรงเฉียบพลันโดยเฉพาะและระบบการส่งต่อผู้ป่วย จัดทำคู่มือแนวทางการดูแลรักษา การป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล แจกให้กับโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ โดยให้เข้มงวดเป็นพิเศษในระดับสูงสุดเช่นเดียวกับการป้องกันโรคซาร์ส นอกจากนี้ ได้เผยแพร่คำแนะนำประชาชนในการป้องกันโรค ทางเว็บไซต์สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ www.beid.ddc.moph.go.th 

        ขณะนี้องค์การอนามัยโลกยังไม่มีคำแนะนำให้จำกัดการเดินทางแต่อย่างใด แต่กระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วงสุขภาพของผู้ที่จะเดินทางไปพื้นที่ตะวันออกกลาง โดยเฉพาะชาวไทยมุสลิมประมาณ 13,000 คน ที่จะเดินทางไปประเทศซาอุดิอาระเบียเพื่อประกอบพิธีฮัจญ์ประจำปี 2556 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานและสูงอายุ จะเริ่มทยอยเดินทางวันที่ 7 กันยายน 2556 ได้วางระบบความพร้อมการดูแลป้องกันไว้อย่างเต็มที่ ทั้งก่อนไป ระหว่างประกอบพิธี และหลังเดินทางกลับมาในช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน โดยได้ตรวจสุขภาพ ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และไข้กาฬหลังแอ่น ให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพ แจกเจลล้างมือ หน้ากากอนามัย และส่งหน่วยแพทย์พยาบาลไทยไปให้การดูแลรักษาที่ประเทศซาอุดิอาระเบียจำนวน 3 ชุด รวม 42 คน 

       ในส่วนของประชาชนทั่วไปที่จำเป็นต้องเดินทางไปยังพื้นที่ระบาด ขอให้ป้องกันตัว โดยก่อนเดินทางขอให้รับการฉีดวัคซีนตามที่ประเทศนั้นๆกำหนด ในระหว่างที่อยู่ต่างประเทศให้หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ที่เป็นหวัด ไอ จาม ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่แออัด หากจำเป็นขอแนะนำให้ผู้ที่มีโรคประจำตัวใส่หน้ากากอนามัยและเปลี่ยนบ่อยๆ หากป่วยอาการคล้ายไข้หวัดให้รีบไปพบแพทย์ และหลังเดินทางกลับมาถึงเมืองไทย ขอให้สังเกตอาการผิดปกติอีก 10 วัน หากมีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ขอให้พักผ่อนอยู่ที่บ้าน สวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ หากอาการไม่ดีขึ้นใน 2 วัน หรือมีอาการไข้สูง หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ขอให้ไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทางไปต่างประเทศด้วย หากประชาชนมีข้อสงสัยโทรสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง

*******************************  6 กันยายน 2556



   
   


View 13    06/09/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ