กระทรวงสาธารณสุข ห่วงกลุ่มเด็กโตวัย 10-14 ปี มีโอกาสเสี่ยงตกน้ำและจมน้ำสูงในเดือนกันยายน  จากการเล่นน้ำหรือออกไปจับปลา  ผลสำรวจในปีนี้พบเด็กเกือบร้อยละ 90 ไม่ห่วงภัยตัวเอง ออกไปเล่นน้ำหรือหาปลาโดยไม่มีเครื่องชูชีพ ติดตัวไปด้วย ขณะที่แหล่งน้ำหน้าฝนจะลึกขึ้นกว่าเดิม    

           นายแพทย์ประดิษฐ  สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องที่เป็นห่วงในฤดูฝนคือปัญหาการจมน้ำ และเสียชีวิต ซึ่งการจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ  1  ของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี นับตั้งแต่พ.ศ.2542 เป็นต้นมา จนถึงปี 2555 พบเด็กจมน้ำเสียชีวิตรวมทั้งหมด 18,675  คน เฉลี่ยปีละประมาณ    1,400 คน หรือวันละเกือบ 4 คน  ในช่วงหน้าฝน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน – เดือน กันยายน เด็กโตมีโอกาสเสี่ยงต่อการตกน้ำ จมน้ำสูง  เนื่องจากออกไปเล่นน้ำ หรือออกไปจับปลา ซึ่งหลังฝนตกจะมีน้ำขังตามแหล่งน้ำ แอ่งน้ำ ที่อยู่ใกล้บ้าน หรือแหล่งน้ำที่ขุดขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้  ซึ่งพบว่าตัวเลขในเดือนกันยายนจะสูงมากที่สุด  ในช่วง 10 ปีมานี้ เฉพาะเดือนกันยายนเดือนเดียว  พบมีเด็กเสียชีวิตแล้วรวม 932 คน   ปัจจัยความเสี่ยงจมน้ำหน้าฝนก็คือระดับความลึกแหล่งน้ำต่างๆ จะลึกมากขึ้นทั้งจากระดับน้ำหรือจากการขุดให้ลึกขึ้นเพื่อเก็บน้ำในช่วงหน้าฝน

          “ผลการสำรวจของกรมควบคุมโรคในปี 2556 พบว่า เด็กโตร้อยละ 70 มีประวัติเคยตกน้ำ และเกือบจมน้ำ เด็กผู้ชาย มีความเสี่ยงต่อการจมน้ำมากกว่าเด็กผู้หญิง  เพราะมีความกล้าที่จะออกไปเล่นน้ำโดยไม่กลัวถึงร้อยละ67  และที่สำคัญเด็กส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 90  ที่ออกไปเล่นน้ำหรือหาปลาโดยไม่ได้นำอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้เช่นห่วงยาง หรือเสื้อชูชีพ ติดตัวไปด้วย มีเพียงร้อยละ 12 เท่านั้นที่มีการเตรียมความพร้อมอุปกรณ์ชูชีพไปด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เด็กโตยังไม่ให้ความสำคัญของการป้องกันชีวิตมากเท่าที่ควร    ”นายแพทย์ประดิษฐ กล่าว

ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุข ขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ รวมทั้งครอบครัว ชุมชน  ควรสำรวจแหล่งน้ำเสี่ยงที่อยู่รอบๆบ้านและในชุมชน จัดการให้เกิดความปลอดภัยเช่น ล้อมรั้ว ฝังกลบหลุมบ่อที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ติดป้ายคำเตือน  และจัดให้มีอุปกรณ์ใช้ช่วยคนตกน้ำที่หาง่ายในชุมชน เช่นถังแกลลอนเปล่ามีฝาปิดไม่ให้น้ำเข้าได้ ขวดพลาสติกเปล่ามัดเป็นพวง ไม้ และเชือก สอนให้เด็กรู้จักเอาชีวิตรอดในน้ำ และวิธีช่วยเหลือคนตกน้ำที่ถูกต้อง คือไม่กระโดดลงไปในน้ำช่วย แต่ให้ช่วยด้วยการ ตะโกน โยน ยื่น    

การป้องกันเด็กจมน้ำ   ผู้ปกครองจะต้องช่วยกันสอนให้เด็กรู้จักใช้อุปกรณ์ชูชีพ ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวต้องมีคุณสมบัติเบา ลอยน้ำได้ หาได้ง่าย เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่าปิดฝา เพื่อช่วยพยุงตัวกรณีตกน้ำ   ไม่ควรปล่อยให้เด็กไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง ต้องมีผู้ใหญ่ไปด้วย หรือสอนให้เด็กรู้จักประเมินสภาพแหล่งนำที่จะลงไป  โดยใช้ไม้วัดความลึกของน้ำในบริเวณจุดที่จะลงเล่น หลายๆตำแหน่ง แม้จะเป็นแหล่งน้ำที่คุ้นเคยมาก่อน เพราะระดับน้ำจะเปลี่ยนแปลงหลังฝนตก   ส่วนเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ต้องให้เด็กอยู่ในระยะที่มองเห็น คว้าถึง และเข้าถึง  และควรจัดให้มีพื้นที่เล่นที่ปลอดภัย เช่น การกั้นเป็นคอก เป็นต้น  ทั้งนี้ภายในปี 2558-2560 กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าลดจำนวนการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี  จากประมาณ 1,500 คนต่อปี ให้เหลือน้อยกว่า 900 คนต่อปี  นายแพทย์ประดิษฐกล่าว

***************************  15  กันยายน 2556



   
   


View 12    16/09/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ