กระทรวงสาธารณสุขจับมือ 6 หน่วยงานเร่งยกคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยเฉพาะคนพิการขาขาด ที่ทั่วประเทศมี 46,000 ราย ในจำนวนนี้มีเกือบ 20,000 คน ยังเข้าไม่ถึงสิทธิ์ และมีผู้ถูกตัดขาเพิ่มปีละประมาณ 3,500 ราย โดยสำรวจค้นหาและขึ้นทะเบียนรับขาเทียมฟรี ตั้งเป้าครบ 100 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2559 และเร่งศึกษาวิจัยใช้ยางพารา ทำฝ่าเท้าเทียมแทนโพลียูรีเทน อายุใช้งานนานขึ้น จัดอบรมอาชีพให้ผู้ที่ใส่ขาเทียม เป็นช่างประจำโรงงานผลิตกายอุปกรณ์
วันนี้ (16 กันยายน 2556) ที่ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิดโครงการเข้าถึงสิทธิ สร้างโอกาสคนพิการสู่สังคม พร้อมมอบอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการแก่คนพิการ จำนวน 50 คน
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวว่า รัฐบาลโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของคนไทยในด้านต่าง ๆ โดยเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการยกระดับคุณภาพชีวิตและความเสมอภาคในทุกมิติ สนับสนุนผู้ที่มีข้อจำกัด เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ ให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้เหมือนคนทั่วไป โดยในกลุ่มของคนพิการซึ่งทั่วประเทศมีประมาณ 2 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 2.9 ของประชากรทั้งหมด รัฐบาลได้กำหนดแนวทางเสริมสร้างพัฒนาศักยภาพของคนพิการด้านต่างๆ ทั้งสุขภาพ ร่างกาย ตลอดจนด้านจิตใจและสังคม เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง เชื่อว่ายังมีคนพิการจำนวนมากที่มีความสามารถ หากได้รับการฝึกอาชีพที่เหมาะสม จะสร้างรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว ทั้งนี้รัฐบาลได้มอบหมายให้ 6 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงการคลัง และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บูรณาการพัฒนาระบบการให้บริการแก่คนพิการ ให้มีคุณภาพชีวิตดียิ่งขึ้น
ด้าน นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผลสำรวจคนพิการของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2550 ทั่วประเทศมีคนพิการขาขาดประมาณ 46,000 ราย สาเหตุส่วนใหญ่มาจากโรคเรื้อรังที่มีปัญหาหลอดเลือดตีบที่ขา เช่น โรคเบาหวาน รองลงมาคือ อุบัติเหตุจราจร ส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกตัดขาอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุร้อยละ 47.9 และพบว่ามีผู้ที่ต้องถูกตัดขา กลายเป็นคนพิการรายใหม่เพิ่มปีละประมาณ 3,500 ราย คาดว่ามียังคนพิการขาขาดจำนวน 19,310 ราย ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการขาเทียม ด้วยข้อจำกัดหลายปัจจัย ทำให้การประกอบกิจวัตรประจำวัน และการดำรงชีวิตมีข้อจำกัด
ในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม กระทรวงสาธารณสุขได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กระทรวงการคลัง และ สปสช. โดยกำหนดยุทธศาสตร์บูรณาการทำงานร่วมกัน 2 ระยะคือ ระยะเร่งรัดและระยะยาว ในระยะเร่งรัด มี 4 มาตรการคือ 1.ให้ผู้พิการที่ยังไม่มีขาเทียม ลงทะเบียนผ่านระบบสารสนเทศ เพื่อใช้สิทธิได้ง่ายด้วยตนเอง 2. ค้นหาคนพิการในทุกหมู่บ้านทุกชุมชน โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุขหรือ อสม.ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อลงทะเบียน และจัดทำขาเทียมครบ 100 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2559 3.เพิ่มศักยภาพการผลิตขาเทียมให้ได้มากกว่า 16,000 ชิ้นต่อปี โดยให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง และ สปสช. จัดงบประมาณเป็นเงินทุนประเดิมกระตุ้นและสนับสนุนให้โรงงานผลิตกายอุปกรณ์ทั่วประเทศ 124 แห่ง ซึ่งอยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 103 แห่ง และหน่วยงานอื่นๆ 21 แห่ง ในการจัดหาเครื่องจักร และวัสดุอุปกรณ์ในการผลิตเพื่อรองรับความต้องการได้ในระยะเวลาอันสั้น 4.ให้กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม และ สปสช. เร่งรัดปรับบัญชีกายอุปกรณ์ เพื่อให้ผู้พิการทั้ง 3 กองทุน มีสิทธิเบิกจ่ายค่ากายอุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียมกัน และจัดทำงบประมาณประจำในการจัดซื้อขาเทียม งบบำรุงซ่อมแซม หรือทดแทนใหม่ เนื่องจากขาเทียมมีอายุใช้งานโดยเฉลี่ย 3 ปี
สำหรับแผนระยะยาว ซึ่งจะเริ่มต้นตั้งแต่ขณะนี้ กำหนดไว้ 3 มาตรการ ดังนี้ 1.ให้ศูนย์สิรินธรฯ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มปริมาณการผลิต ลดการนำเข้าและลดต้นทุนการผลิตขาเทียม ให้มีคุณสมบัติดี คือเบา ทนทาน สวยงาม โดยเฉลี่ยต้นทุนการผลิตขาเทียมในประเทศข้างประมาณ 30,000 บาท หากนำเข้าจะมีมูลค่าประมาณ 70,000 บาท ขาเทียมที่คนพิการไทยใช้มากที่สุดคือขาเทียมชนิดใต้เข่า ใช้ร้อยละ 61 รองลงมาคือเหนือเข่า ร้อยละ 32 ระดับเข่าร้อยละ 3 ระดับสะโพกและระดับข้อเท้า อย่างละประมาณร้อยละ 2 อุปกรณ์ขาเทียมที่ไทยผลิตเองซึ่งยังอยู่ในช่วงวิจัย กำลังทดสอบ คือข้อเข่าขาเทียม นอกจากนี้ยังได้เร่งให้พัฒนาหาวัสดุที่ผลิตขาเทียมในประเทศ เพิ่มอายุการใช้งานให้นานขึ้น เช่น ใช้ยางพาราเป็นวัสดุที่สามารถใช้ผลิตฝ่าเท้าเทียม แทนการใช้พลาสติกโพลียูนีเทน ซึ่งมีอายุใช้งาน 1-2 ปี ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาลง และส่งเสริมการแปรรูปยางพาราให้มากขึ้น
2. ให้ศูนย์สิรินธรฯ ร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ฝึกอบรมคนพิการขาขาดให้เป็นช่างทำขาเทียม และทำงานในโรงงานกายอุปกรณ์ โดยกระทรวงสาธารณสุขจะจัดสรรตำแหน่งและสร้างแรงจูงใจอื่นๆ เพื่อให้มีผู้เข้ามาทำงานในสาขาการผลิตวัสดุกายอุปกรณ์การแพทย์มากขึ้น ซึ่งจะแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านนี้ และเชื่อว่างานผลิตขาเทียมจะมีคุณภาพและรู้ถึงความต้องการของผู้ใช้งานได้ดีที่สุด
3. การป้องกันและลดจำนวนคนพิการ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายชัดเจน โดยกำหนดเป็นตัวชี้วัดในการทำงานเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยเบาหวาน และป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนอันเป็นสาเหตุให้สูญเสียขา และรณรงค์ป้องกันและควบคุมอุบัติเหตุจราจรร่วมกับกระทรวงคมนาคม นายแพทย์ณรงค์ กล่าว
****************************** 16 กันยายน 2556