รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยความคืบหน้าสถานการณ์น้ำท่วม มีสถานพยาบาลในสังกัดได้รับผลกระทบ 5 แห่ง อยู่ที่ จ.สุรินทร์ 3 แห่งคือโรงพยาบาลสุรินทร์ โรงพยาบาลศรีขรภูมิ โรงพยาบาลสำโรงทาบ วันนี้เปิดให้บริการตามปกติ ส่วนที่จ.สระแก้วมี 2 แห่ง เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ระดับน้ำสูงประมาณ 50-70 เซนติเมตร งดบริการชั่วคราว  โดยย้ายไปเปิดบริการประชาชนที่โรงพยาบาลใกล้เคียงแทน  แนะประชาชนหากเจ็บป่วยฉุกเฉิน ให้โทรแจ้งขอรับความช่วยเหลือที่หมายเลข 1699 ตลอด 24 ชั่วโมงทุกพื้นที่

             วันนี้ (22 กันยายน 2556) นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดว่า ได้รับรายงานมีสถานบริการในสังกัดได้รับผลกระทบ 5 แห่งใน 2 จังหวัด ได้แก่ ที่จ.สุรินทร์ 3 แห่ง คือโรงพยาบาลสุรินทร์ มีน้ำท่วมที่บริเวณห้องฉุกเฉิน และรอบๆโรงพยาบาล ขณะนี้ระดับน้ำลดลงแล้ว สามารถให้บริการได้ตามปกติ   และมีโรงพยาบาลชุมชน 2 แห่งคือโรงพยาบาลศรีขรภูมิ และโรงพยาบาลสำโรงทาบ น้ำท่วมทางเข้าโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่ง แต่ไม่ท่วมอาคารบริการ ยังเปิดให้บริการประชาชนได้ ได้จัดรถยกสูงบริการรับส่งประชาชนเดินทางเข้า-ออกโรงพยาบาล ส่วนเครื่องมือแพทย์ เวชภัณฑ์ต่างๆ ไม่ได้รับความเสียหาย เนื่องจากทุกแห่งได้มีแผนเตรียมความพร้อมรับมือไว้แล้ว ในการจัดบริการได้วางแผนตรวจประเมินสุขภาพกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องรับยาต่อเนื่อง เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงไว้เป็นการล่วงหน้าทุกรายแล้ว เพื่อป้องกันปัญหาการขาดยา และบรรเทาความเดือดร้อนในการเดินทาง  โดยแนวโน้มระดับน้ำเริ่มลดลง คาดว่าภายใน 2-3 วัน หากฝนไม่ตกเพิ่ม ก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
 
            นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวต่อว่า สำหรับที่จ.สระแก้ว ได้รับรายงานมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลถูกน้ำท่วม 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนหมากมุ่น  อ.โคกสูง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคลองตะเคียน อ.วัฒนานคร ระดับน้ำสูง  50-70 เซนติเมตร ขณะนี้ได้ปิดให้บริการชั่วคราว โดยได้ย้ายไปให้บริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใกล้เคียงแทน
 
            อย่างไรก็ดี ในวันนี้ได้สั่งการให้สถานพยาบาลที่อยู่ในจังหวัดภาคกลาง เช่นที่ลพบุรี และพระนครศรีอยุธยา ให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีแนวโน้มระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากการระบายน้ำของเขื่อนป่าสัก โดยได้ให้สถานพยาบาลทุกแห่งขนย้ายเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ ไว้ในที่ปลอดภัย และเตรียมระบบการสำรองไฟฟ้าในโรงพยาบาล เพื่อไม่ให้กระทบต่อการบริการดูแลรักษาผู้ป่วย รวมทั้งให้เร่งสำรวจกลุ่มประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่นอนพักฟื้นที่บ้าน ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้พิการ วางแผนให้การช่วยเหลือร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัย ทั้งนี้ หากประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถโทรแจ้งขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์ทุกแห่งได้ที่ 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง  นายแพทย์ประดิษฐกล่าวในตอนท้าย  
********************************** 22 กันยายน 2556


   
   


View 9    22/09/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ