กระทรวงสาธารณสุข ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกพื้นที่ให้คำแนะนำ 10 ประการ เตรียมความพร้อมผู้สูงอายุให้ปลอดภัยในภาวะน้ำท่วม และให้ทุกจังหวัดจัดหน่วยแพทย์ดูแลสุขภาพผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง
วันนี้ (26 กันยายน 2556) นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมด้านการแพทย์และสาธารณสุข ว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมขยายเป็นวงกว้าง ได้เน้นย้ำให้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการประชาชนในพื้นที่ประสบภัยทุกแห่งอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม ซึ่งหากท่วมขังเป็นเวลาหลายวัน จะมีสิ่งสกปรกและเชื้อโรคต่างๆ ทั้งไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา พยาธิปะปนอยู่จำนวนมาก อาจทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคน้ำกัดเท้า ตาแดง โรคระบบทางเดินหายใจ โรคฉี่หนู โรคไข้เลือดออก และโรคระบบทางเดินอาหาร ที่สำคัญคืออาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วง จากการรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคได้ จนถึงวันนี้ ยังไม่พบโรคระบาดเป็นกลุ่มก้อนแต่อย่างใด
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า สำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่ต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ ขอให้เจ้าหน้าที่ให้ความรู้แก่ญาติให้เตรียมพร้อมใน 10 ประการเพื่อลดอันตรายจากน้ำท่วม ได้แก่ 1.เตรียมน้ำดื่มน้ำใช้และอาหารดำรงชีพอย่างน้อย 3 วัน 2.ไฟฉายพร้อมถ่าน เทียนไข ไม้ขีดไฟ 3.ยาสามัญประจำบ้าน 1 ชุด โดยผู้ที่มีโรคประจำตัวให้เตรียมยารักษาไว้อย่างน้อย 7 วัน 4.เตรียมอุปกรณ์พิเศษประจำตัว เช่น แว่นตา ฟันปลอม เครื่องช่วยฟัง ถังออกซิเจน เป็นต้น 5.สำเนาเอกสารสำคัญ เช่น โรคประจำตัวและชื่อยาที่กินประจำ อาจให้แพทย์จากสถานพยาบาลที่ใช้บริการอยู่เขียนหรือออกให้ บัตรประชาชน บัตรประจำตัวผู้ป่วย เป็นต้น 6.รายชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ของญาติหรือผู้ดูแลเพื่อให้สามารถติดต่อได้ในกรณีฉุกเฉิน 7.ให้ทำแผนที่บ้านของผู้สูงอายุหรือละแวกใกล้เคียง 8.เตรียมนกหวีดสำหรับเป่าขอความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน 9.เสื้อผ้าแห้ง 1 ชุดสำหรับเปลี่ยน และ10.ถุงดำหรือถุงพลาสติกสำหรับบรรจุสิ่งขับถ่ายและกระดาษชำระ
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อไปว่า ในการป้องกันไม่ให้เกิดโรคจากน้ำท่วม ขอให้ประชาชนทิ้งขยะลงถุงพลาสติกหรือถุงดำและมัดปากถุงให้แน่น รอการกำจัดบนบกอย่างถูกต้อง ไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ และไม่ทิ้งขยะลงน้ำ หลีกเลี่ยงการลงแช่น้ำหรือลุยน้ำท่วม หากจำเป็นขอให้สวมถุงพลาสติก รองเท้าบู๊ท ป้องกันไม่ให้สัมผัสกับน้ำโดยตรง หลังลุยน้ำให้ชำระล้างร่างกายให้สะอาด ที่สำคัญคือการรับประทานน้ำและอาหารให้ปลอดภัยจากโรคอุจจาระร่วงในช่วงน้ำท่วม ขอให้ดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำดื่มบรรจุขวด หรือน้ำต้มสุก อาหารที่ค้างมื้อต้องนำมาอุ่นให้เดือดก่อนรับประทาน สำหรับอาหารสำเร็จรูป เช่น อาหารกระป๋อง บะหมี่สำเร็จรูป อาหารแห้ง ขอให้ตรวจดูวันหมดอายุ และดูสภาพภาชนะบรรจุ หากพบว่าหมดอายุ หรือกระป๋องบรรจุบวม บุบ ไม่ควรรับประทาน และดูสภาพอาหาร สีและกลิ่นก่อนรับประทานทุกครั้ง
********************************** 26 กันยายน 2556
View 14
26/09/2556
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ